เป็น 'นอมินี' ให้ต่างชาติผิดกฎหมายหรือไม่

279 จำนวนผู้เข้าชม  | 

เป็น 'นอมินี' ให้ต่างชาติผิดกฎหมายหรือไม่

การเป็น 'นอมินี' ให้ 'คนต่างชาติ' ทำธุรกิจหรือถือกรรมสิทธิ์ที่ดินในไทยมีมานานแล้ว โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานครและหัวเมืองเศรษฐกิจต่าง ๆ 

การเป็นนอมินีให้คนต่างชาติอาจทำได้หลายรูปแบบ เช่น

1) ให้ยืมชื่อเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทแลกค่าตอบแทน

2) ให้ยืมชื่อเป็นผู้ถือหุ้นและกรรมการผู้มีอำนาจลงนามในเอกสารโดยอำนาจควบคุมที่แท้จริงอยู่ในมือคนต่างชาติ

3) ให้คู่สมรสไทยใส่ชื่อถือที่ดินและขอใบอนุญาตต่าง ๆ แทนโดยตนเองออกทุนทำธุรกิจ

เหตุผลหลัก ๆ ที่ต้องให้คนไทยเป็นนอมินี คือ

1) กฎหมายห้ามไม่ให้คนต่างด้าวประกอบธุรกิจที่สงวนไว้สำหรับคนไทย หรือบังคับให้คนต่างด้าวขออนุญาตสำหรับอาชีพบางประเภทโดยกำหนดเงื่อนไขไว้ค่อนข้างยุ่งยาก

2) กฎหมายที่ดินของไทยห้ามไม่ให้คนต่างด้าวถือกรรมสิทธิ์ที่ดินในไทยเว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นเพียงไม่กี่ข้อ 

การเป็นนอมินีให้คนต่างชาติเป็นความผิดตามกฎหมาย

กฎหมายที่กำหนดความผิดสำหรับการเป็นนอมินีให้คนต่างชาติมี 2 ฉบับ ได้แก่

1) พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 

2) ประมวลกฎหมายที่ดิน 

พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 บัญญัติความผิดเกี่ยวกับการเป็นนอมินีให้คนต่างชาติและกำหนดโทษของการกระทำดังกล่าวไว้ใน มาตรา 36 ว่า

"ผู้มีสัญชาติไทยหรือนิติบุคคลที่มิใช่คนต่างด้าวตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ความช่วยเหลือหรือสนับสนุนหรือร่วมประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว อันเป็นธุรกิจที่กำหนดไว้ในบัญชีท้ายพระราชบัญญัตินี้ โดยคนต่างด้าวนั้นมิได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจดังกล่าว หรือร่วมประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวโดยแสดงออกว่าเป็นธุรกิจของตนแต่ผู้เดียวหรือถือหุ้นแทนคนต่างด้าวในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทจำกัด หรือนิติบุคคลใด ๆ เพื่อให้คนต่างด้าวประกอบธุรกิจโดยหลีกเลี่ยงหรือฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ รวมทั้งคนต่างด้าวซึ่งยินยอมให้ผู้มีสัญชาติไทยหรือนิติบุคคลที่มิใช่คนต่างด้าวตามพระราชบบัญญัตินี้กระทำการดังกล่าว ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งให้เลิกการให้ความช่วยเหลือหรือสนับสนุน หรือสั่งให้เลิกการร่วมประกอบธุรกิจ หรือสั่งให้เลิกการถือหุ้น หรือการเป็นหุ้นส่วนนั้นเสีย แล้วแต่กรณี หากฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลต้องระวางโทษปรับวันละหนึ่งหมื่นบาทถึงห้าหมื่นบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่"

ส่วนประมวลกฎหมายที่ดินกำหนดความผิดสำหรับการถือที่ดินไว้แทนคนต่างด้าวไว้ใน มาตรา 113 ว่า

"ผู้ใดได้มาซึ่งที่ดินในฐานะเป็นตัวแทนของคนต่างด้าว หรือนิติบุคคลตามความใน มาตรา ๙๗ หรือมาตรา ๙๘ มีความผิด ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือจำคุกไม่เกินสองปี หรือ ทั้งปรับทั้งจำ"

จะเห็นได้ว่ากฎหมายเข้มงวดกับการเป็นนอมินีให้คนต่างชาติมาก อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติพบว่าการบังคับใช้กฎหมายค่อนข้างย่อหย่อน อาจเพราะกำลังคนไม่พอ หรืออาจเพราะเหตุผลอื่นที่บอกกล่าวในที่แจ้งไม่ได้ก็เป็นได้ 

เรื่องการบริหารจัดการคนต่างชาติเป็นเรื่องสำคัญเพราะการลงทุนจากต่างชาติเป็นที่มาของรายได้จากการเก็บภาษี การออกกฎหมายที่เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์และการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพเป็นสิ่งจำเป็นเพราะจะช่วยดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติและลดปัญหาการเป็นนอมินีให้ต่างชาติในที่สุด

ขอบคุณครับ

บทความโดย

พุทธพจน์ นนตรี

ทนายความ

สำนักกฎหมายณัฐพจน์ ลีกัล เซอร์วิส ให้บริการว่าความในเขตกรุงเทพและปริมณฑล รวมทั้งให้คำปรึกษาทางกฎหมายแก่ผู้มีอรรถคดี

ท่านสามารถตรวจสอบบริการของเราได้ที่หัวข้อ “บริการ” ในเว็บไซต์หรือติดต่อเราผ่านช่องทางที่ระบุไว้ด้านล่างสุดของหน้าหรือในหัวข้อ "ติดต่อเรา" ครับ

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้