73 จำนวนผู้เข้าชม |
ตั๋วสัญญาใช้เงิน เป็นเอกสารที่ ผู้ออกตั๋ว (maker/issuer) ออกให้แก่บุคคลที่เรียกว่า ผู้รับเงิน (payee) พร้อมคำมั่นสัญญาอันปราศจากเงื่อนไขว่าจะใช้เงินจำนวนหนึ่งให้แก่ผู้รับเงินหรือใช้ตามคำสั่งของผู้รับเงิน
ในการออกตั๋วสัญญาใช้เงินนี้ ผู้ออกตั๋วจะมีสถานะเป็น ลูกหนี้ ขณะที่ผู้รับเงินมีสถานะเป็น เจ้าหนี้ ของผู้ออกตั๋ว
ตัวอย่างที่ 1 ผมอยากจะกู้เงินกับนาย ก. เพื่อเอาไปหมุนใช้ในธุรกิจ แต่กลัวว่านาย ก. จะไม่ให้กู้ ผมจึงออกตั๋วสัญญาใช้เงินเพื่อสัญญากับนาย ก. ว่าเมื่อครบกำหนดวันที่ xxx ให้นาย ก. เอาตั๋วมาขึ้นเงินกับผมได้เลยแล้วเดี๋ยวจะจ่ายเงินให้ตามจำนวนที่ระบุไว้ในตั๋ว ดังนี้ เมื่อตั๋วถึงกำหนด หากผมผิดนัดไม่จ่ายเงิน ผมก็เป็นฝ่ายผิดสัญญา นาย ก. ฟ้องผมให้รับผิดตามสัญญาได้เลย
ตัวอย่างที่ 2 จากตัวอย่างข้างต้น หากต่อมานาย ก. ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของผมติดหนี้นาย ข. อยู่แล้วไม่มีเงินจ่าย นาย ก. จึงอยากโอนสิทธิตามตั๋วสัญญาใช้เงินให้แก่นาย ข. เพื่อให้นาย ข. นำตั๋วใบนั้นมาเรียกเก็บเงินจากผมซึ่งเป็นลูกหนี้ ดังนี้ นาย ก. ก็สามารถ “โอน” ด้วยการ “เซ็น” ชื่อตัวเองลงในช่องที่ระบุไว้ในตั๋วพร้อมระบุชื่อนาย ข. เพื่อโอนตั๋วนั้นให้นาย ข. ได้
ตั๋วสัญญาใช้เงินนี้จะระบุ “ดอกเบี้ย” หรือไม่ระบุดอกเบี้ยก็ได้ และเมื่อระบุดอกเบี้ยแล้ว ผู้ออกตั๋วซึ่งเป็นลูกหนี้ก็ต้องใช้ทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยให้แก่ผู้รับเงินซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามตั๋วด้วย
นอกจากจะเอาไปใช้เพื่อกู้เงินหรือระดมทุนแล้ว ยังนำไปใช้ในธุรกรรมการซื้อขายทรัพย์สินได้ด้วย กรณีนี้มักเกิดจากการที่ผู้ออกตั๋วมีกระแสเงินสดไม่เพียงพอในขณะทำธุรกรรมการซื้อขาย ผู้ซื้อจึงออกตั๋วชนิดนี้เพื่อสัญญาว่า เมื่อถึงกำหนดชำระตามที่ระบุไว้ในตั๋วแล้วตนเองจะจ่ายเงินให้แก่ผู้รับเงินหรือตามคำสั่งของผู้รับเงินต่อไป
เช่น นาย ก. ต้องการซื้อหุ้นของบริษัท ข. แต่มีกระแสเงินสดไม่พอ จึงออกตั๋วสัญญาใช้เงินให้นาย ข. เก็บไว้เพื่อให้นาย ข. นำมาเรียกเก็บเงินค่าขายหุ้นกับตนเมื่อตั๋วถึงกำหนดชำระ เป็นต้น
การออกตั๋วสัญญาใช้เงินอาจนำมาใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทาง “ภาษี” ได้
เช่น นาย ก. ขายหุ้นให้นาย ข. ในปี 2567 แต่ยังไม่อยากเสียภาษีในรอบปี 2567 ซึ่งเป็นปีที่ทำสัญญาโอนหุ้น จึงให้นาย ข. ออกตั๋วสัญญาใช้เงินโดยระบุให้นาย ข. มีหน้าที่ต้องชำระเงินตามตั๋วให้แก่นาย ก. เมื่อถึงวันที่ xxx ปี yyy ดังนี้ นาย ก. ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาจึงยังไม่ได้รับเงิน “จริง ๆ” ในรอบปี 2567 แต่จะได้รับเงินจริงในวันที่ xxx ปี yyy ตามตั๋วสัญญาใช้เงิน เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังสามารถนำไปใช้เพื่อ “เลี่ยงภาษี” (tax avoidance) ตามกฎหมายของสรรพากรที่แก้ไขใหม่ช่วงปี 2559 ได้อีกด้วย
เช่น ประมวลรัษฎากรกำหนดว่า กรณีมีการโอน “สังหาริมทรัพย์” (เช่น หุ้น รถ หรือทรัพย์สินที่เคลื่อนย้ายได้) ที่มีมูลค่าเกินกว่า 20 ล้านบาทให้แก่บุคคลใด “โดยเสน่หา” ให้ผู้รับการให้นั้นเสียภาษีในอัตราร้อยละ 5 ของมูลค่าทรัพย์สินที่ได้รับในส่วนที่ “เกิน 10 ล้านบาท”
ดังนี้ ถ้านาย ก. อยากโอนหุ้นมูลค่า 100 ล้านบาทให้นาย ข. ซึ่งเป็นลูก แต่ไม่อยากให้นาย ข. เสียภาษี นาย ก. ก็อาจให้นาย ข. ออกตั๋วสัญญาใช้เงินแบบหลอก ๆ ให้โดยระบุว่า นาย ข. จะใช้เงินค่าหุ้น 100 ล้านบาทให้นาย ก. แต่ไม่ได้ระบุกำหนดวันชำระหนี้เอาไว้ ดังนี้ ธุรกรรมดังกล่าวก็จะดูเหมือนการซื้อขายทั้งที่ความจริงแล้วเป็นธุรกรรมการให้โดยเสน่หา ขณะเดียวกันนาย ข. ก็ไม่ต้องเสียเงินค่าโอนหุ้นและนาย ก. ก็ไม่ต้องเสียภาษีจากการขายหุ้นเพราะตราบใดที่นาย ก. ไม่นำตั๋วมาเรียกเก็บเงินจากนาย ข. นาย ข. ก็ไม่ต้องจ่ายเงินและนาย ก. ก็ยังไม่มีเงินได้จากการขายหุ้นที่ต้องนำไปเสียภาษีจริง ๆ
ในทางกฎหมายแล้ว นิติกรรมการออกตั๋วแบบนี้ถือเป็น “นิติกรรมอำพราง” ตกเป็นโมฆะตามกฎหมาย ต้องบังคับตามนิติกรรมที่ถูกอำพรางไว้ นั่นคือ นิติกรรมการให้โดยเสน่หา และต้องเสียภาษีจากการรับให้โดยเสน่หาต่อไป รวมทั้งเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่มด้วย
อย่างไรก็ตาม เรื่องว่ามีการทำนิติกรรมอำพรางหรือไม่เป็นเรื่องที่ต้องพิสูจน์และดูเจตนาของผู้ทำโดยใช้หลัก "กรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา"
จะเห็นได้ว่า ตั๋วสัญญาใช้เงินเป็น “ตราสาร” (instrument) ชนิดหนึ่งคล้ายกับเช็ค แต่ก็ไม่เหมือนกันทุกส่วน นอกจากนี้ ยังนำไปใช้ในทางการค้าและในทางการเงินได้อีกด้วย ขณะเดียวกัน ก็อาจนำไปใช้ในทางสุจริตหรือไม่สุจริตก็ได้
ขอบคุณครับ
พุทธพจน์ นนตรี
ทนายความ
สำนักงานกฎหมายณัฐพจน์ ลีกัล เซอร์วิส ให้บริการว่าความในเขตกรุงเทพและปริมณฑล รวมทั้งให้คำปรึกษาทางกฎหมายแก่ผู้มีอรรถคดี
ท่านสามารถตรวจสอบบริการของเราได้ที่หัวข้อ “บริการ” ในเว็บไซต์หรือติดต่อเราผ่านช่องทางที่ระบุไว้ด้านล่างสุดของหน้าหรือในหัวข้อ "ติดต่อเรา" ครับ
ขอขอบคุณภาพจาก: www.freepik.com