527 จำนวนผู้เข้าชม |
“ลิขสิทธิ์” เป็นสิทธิประเภทหนึ่งที่กฎหมายบัญญัติขึ้นเพื่อคุ้มครอง “งานอันเกิดจากความคิดสร้างสรรค์” ของผู้สร้างสรรค์งานอันมีลิขสิทธิ์ (author)
“ลิขสิทธิ์” เป็นสิทธิแขนงหนึ่งในกลุ่มของสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา (intellectual property rights) นอกเหนือจาก “เครื่องหมายการค้า” ซึ่งคุ้มครอง “โลโก้” และ “สิทธิบัตร” ที่คุ้มครอง “งานประดิษฐ์”
ลิขสิทธิ์คุ้มครองสิทธิของผู้สร้างสรรค์งาน หากสร้างสรรค์งานที่อยู่ในข่ายได้รับความคุ้มครองขึ้นมา บุคคลผู้สร้างสรรค์งานก็ย่อมเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานนั้นได้ เช่น สถาปนิกที่ร่างแบบอาคาร (building) และบริเวณรอบอาคาร โดยหลักแล้ว สถาปนิกย่อมเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในร่างแบบอาคารรวมทั้งตัวอาคารที่สร้างขึ้นมาตามแบบร่างนั้นด้วย แต่หากสถาปนิก “รับจ้าง” ร่างแบบให้ผู้ว่าจ้าง ผู้ว่าจ้างก็ย่อมมีลิขสิทธิ์ในงานที่จ้างให้ทำนั้นเว้นแต่จะตกลงกันเป็นอย่างอื่น
การคุ้มครองลิขสิทธิ์เป็นการคุ้มครอง "แบบอัตโนมัติ" (automatic protection) โดย "ไม่ต้องไปจดทะเบียน" การได้มากับทางราชการแต่อย่างใด การ "จดลิขสิทธิ์" ที่เห็นทำกันบ่อย ๆ แท้จริงแล้วเป็นเพียงการ "จดแจ้ง" กับทางราชการว่าเราเป็นผู้สร้างสรรค์งานอันมีลิขสิทธิ์ขึ้นมาเท่านั้น ไม่ได้มีผลเป็นการรับรองว่าเราเป็นเจ้าของในลิขสิทธิ์ในงานนั้นแต่อย่างใด บุคคลอื่นที่เห็นว่าตนเป็นเจ้าของที่แท้จริงในงานอันมีลิขสิทธิ์อาจโต้แย้งความเป็นเจ้าของในลิขสิทธิ์ชิ้นนั้นได้อยู่ดังเดิม
งานที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายลิขสิทธิ์ต้องเป็น “งานประเภทที่กฎหมายกำหนดไว้” (subject matter) เท่านั้น หากไม่ใช่งานที่กฎหมายกำหนดไว้ งานนั้นก็ไม่อยู่ในขอบเขตความคุ้มครองตามกฎหมายลิขสิทธิ์เลย
งานที่กฎหมายคุ้มครองมีดังนี้
1) “วรรณกรรม” (literary works) เช่น งานแปล หนังสือ นิยาย ตำรา คำบรรยายวิชาเรียน (ไม่ว่าจะบรรยายด้วยวาจาหรือแปลงเป็นตัวอักษรแล้ว) สิ่งเขียน รวมทั้ง “โปรแกรมคอมพิวเตอร์” ด้วย (เพราะโปรแกรมคอมพิวเตอร์เขียนขึ้นโดยใช้ภาษาคอมพิวเตอร์ กฎหมายไทยและอนุสัญญากรุงเบิร์นจึงให้ความคุ้มครองงานประเภทนี้)
2) “นาฏกรรม” (dramatic works) คือ งานรำ งานเต้น หรืองานแสดง (performance) ที่ทำท่าทาง “ให้กลายเป็นเรื่องราว” เช่น ละครเวที เป็นต้น การเต้นอย่างวงดนตรีเกาหลีไม่เข้าลักษณะงานนาฏกรรมตามความหมายนี้เพราะเป็นการเต้นประกอบเพลงเพื่อความสวยงาน แต่ไม่ได้เต้นประกอบท่าทางเป็นเรื่องราวใด ๆ ขึ้นมาเลย
3) “ศิลปกรรม” (artistic works) ได้แก่ ก) งานจิตรกรรม (เช่น ภาพวาด แบบร่างทางสถาปัตยกรรม) ข) งานประติมากรรม (เช่น รูปปั้น) ค) งานภาพพิมพ์ (เช่น ภาพพิมพ์จากแท่นพิมพ์ไม้แกะสลัก) ง) งานสถาปัตยกรรม (เช่น อาคาร สิ่งปลูกสร้าง แบบร่างทางสถาปัตยกรรม) จ) งานภาพประกอบ แผนที่ โครงสร้าง ภาพร่าง หรืองานสร้างสรรค์รูปทรงสามมิติอันเกี่ยวกับภูมิศาสตร์ ภูมิประเทศ หรือวิทยาศาสตร์ และ ฉ) งานศิลปะประยุกต์ เช่น เอารูปโดราเอมอนมาประยุกต์ทำเป็นพวงกุญแจ เป็นต้น
4) “ดนตรีกรรม” (musical works) หมายถึง งานในส่วนที่เป็นคำร้องหรือทำนองที่แต่งขึ้นมาเพื่อขับร้องหรือบรรเลงเท่านั้น เช่น เนื้อเพลง หรือทำนองดนตรี เป็นต้น ไม่รวมถึงเพลงที่อัดลงสิ่งบันทึกเสียงแล้วแต่อย่างใด
5) “โสตทัศนวัสดุ” (audiovisual works) “โสต” หมายถึง เสียง “ทัศน” หมายถึง ที่เกี่ยวกับการมองเห็น ส่วน “วัสดุ” ก็หมายถึงสิ่งของ ดังนั้น “โสตทัศนวัสดุ” จึงหมายถึงสิ่งที่ใช้บันทึกภาพและเสียงซึ่งเคลื่อนไหวและนำกลับมาเล่นซ้ำได้โดยไม่จำกัดว่าสิ่งบันทึกนั้นจะอยู่ในรูปลักษณะใด เช่น วีซีดีหนัง ดีวีดีหนัง วิดีโอ ฮาร์ดไดรฟ์ ไฟล์คลิปวิดีโอเพลงในคอมพิวเตอร์ เป็นต้น
6) “ภาพยนตร์” (cinematographic works) ในทางกฎหมายแล้ว ภาพยนตร์ไม่ได้หมายถึงตัวหนังที่ฉาย แต่หมายถึงภาพเคลื่อนไหวที่บันทึกโดยวัสดุที่ฉายในโรงหนัง เช่น ม้วนหนัง (reels) เป็นต้น ดังนั้น การแสดงของนักแสดงโดยมีผู้กำกับซึ่งถูกบันทึกเป็นภาพเคลื่อนไหว (moving images) ในรูปของม้วนฟิล์มเพื่อเอาไป “ฉาย” ในโรงหนังย่อมเป็นงานที่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายลิขสิทธิ์ นอกจากนี้ เสียงซาวด์แทร็กในภาพยนตร์ก็ได้รับคุ้มครองในฐานะงานภาพยนตร์ด้วย
7) “สิ่งบันทึกเสียง” (sound recordings) เช่น ไฟล์ mp3 ซีดีเพลง ดีวีดีเพลง ไฟล์บันทึกคำบรรยาย เป็นต้น
8 ) “งานแพร่เสียงแพร่ภาพ” (broadcasts) คือ งานถ่ายทอดสดต่าง ๆ เช่น งานถ่ายทอดสดฟุตบอล งาน live streaming เป็นต้น แต่ไม่รวมถึงการแสดงสดคอนเสิร์ตหรืองานแสดงกลางแจ้งโดยไม่ได้ถ่ายทอดผ่านสัญญาณถ่ายทอดสดแต่อย่างใด
9) “งานอื่นใดในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนศิลปะ”
สิ่งอื่นใดนอกเหนือจากนี้ เช่น ที่ดิน เป็นต้น ย่อมไม่ใช่วัตถุที่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายลิขสิทธิ์
ข้อสังเกต
1) ลิขสิทธิ์คุ้มครองเฉพาะ “ความคิดที่แสดงออกมาให้ปรากฏ” (expression of ideas) เท่านั้น แต่ไม่คุ้มครอง “ความคิดเบื้องหลังงาน” (ideas) แต่อย่างใด หากก็อปข้อความในส่วนสาระสำคัญของนิยาย 1 เรื่องไปโดยไม่ขออนุญาตเจ้าของและขัดต่อประโยชน์ของเจ้าของลิขสิทธิ์เกินสมควร ก็เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของเจ้าของแล้ว แต่หากเอาแนวคิดเบื้องหลังนิยายไปต่อยอดเป็นของตัวเองโดยไม่ได้ลอกเลียนแบบไปเลยทั้งหมดหรือในส่วนสาระสำคัญ ก็ย่อมไม่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของเจ้าของแต่อย่างใดแม้ไม่ได้ขออนุญาตเจ้าของลิขสิทธิ์ก็ตาม
2) ลิขสิทธิ์เป็นสิทธิที่แยกต่างหากจากตัววัตถุอันเป็นทรัพย์สิน หนังสือ 1 เล่มประกอบด้วย ก) "หนังสือ" และ ข) "ข้อความตัวอักษรที่เป็นสิ่งที่สะท้อนความคิดสร้างสรรค์ของผู้เขียนออกมาเป็นรูปธรรม" ลิขสิทธิ์คุ้มครองเฉพาะ ข) ไม่คุ้มครอง ก) ทรัพย์สินตาม ก) ได้รับความคุ้มครองตามประมวลแพ่งและพาณิชย์เรื่องทรัพย์ ส่วนวัตถุตาม ข) ได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ ลิขสิทธิ์จึง "ครอบครองปรปักษ์" กัน "ไม่ได้"
3) “โลโก้” ได้รับความคุ้มครองทั้งตามกฎหมายเครื่องหมายการค้าและกฎหมายลิขสิทธิ์หากมีส่วนที่เป็นงานอันมีลิขสิทธิ์รวมอยู่ด้วย
4) ลิขสิทธิ์ไม่คำนึงถึงคุณค่าทางศิลปะ (irrespective of artistic value) งานศิลปะนั้นจะมีค่าน้อยแค่ 1 บาทหรือมีคุณค่ามากเป็นหมื่นล้านก็ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายลิขสิทธิ์เสมอหน้ากัน
5) กฎหมายลิขสิทธิ์ไม่ใช้บังคับกับงานบางประเภทตามมาตรา 7 เช่น งานแปลที่ทำโดยหน่วยงานราชการ สูตรคณิตศาสตร์ คำพิพากษาของศาล หรือข่าวสารทั่วไป (เว้นแต่บทวิเคราะห์ข่าว) เป็นต้น และไม่คุ้มครองงานที่ขัดกฎหมายหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน เช่น หนังโป๊ เป็นต้น
6) “สงวนลิขสิทธิ์” (All rights reserved) มีความหมายแตกต่างจากคำว่า “สงวนสิทธิ” หรือ “ขอสงวนสิทธิ”
ขอบคุณครับ
พุทธพจน์ นนตรี
ทนายความ