366 จำนวนผู้เข้าชม |
เป็นคำถามยอดฮิตที่มีมานานแล้วและผู้ประกอบการรายใหม่มักกังวลกัน บทความนี้จะพยายามตอบคำถามนี้ในมุมของกฎหมายครับ
1) ปกติแล้ว ถ้ารายได้จากการขายสินค้า หรือให้บริการ หรือนำเข้าสินค้าในปีภาษีนั้น ๆ ถึง 1.8 ล้านบาทหรือคาดว่าจะถึง 1.8 ล้านบาท ต้องจด VAT กับสรรพากร
2) แต่หากรายได้ไม่ถึง 1.8 ล้านหรือไม่มีแผนงานใด ๆ เลยที่แสดงให้เห็นว่าจะมีรายได้ถึง 1.8 ล้านในปีภาษีนั้น โดยหลักก็ได้รับยกเว้นให้ไม่ต้องจด VAT กับสรรพากร
3) แต่ถ้าต้องการสร้างความน่าเชื่อถือกับลูกค้า ต้องการเข้าระบบภาษีอย่างถูกต้อง และพร้อมรับภาระในการเตรียมเอกสารและยื่นเอกสารที่เกี่ยวข้องกับสรรพากรได้ ก็สามารถ “แจ้ง” อธิบดีกรมสรรพากรตามแบบที่กฎหมายกำหนดเพื่อขอเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนได้แม้รายได้ไม่ถึง 1.8 ล้านในปีภาษีนั้น (มาตรา 81/3 ของ ป.รัษฎากร)
4) การยื่นจด VAT สามารถทำแบบดั้งเดิมคือยื่นกระดาษ หรือทำแบบใหม่คือยื่นจดออนไลน์ก็ได้ หากยื่นกระดาษต้องไปยื่นที่สรรพากรพื้นที่ที่สำนักงานใหญ่ของกิจการตั้งอยู่ แต่หากยื่นจดออนไลน์ก็เพียงสมัครเข้าไปทางเว็บของสรรพากรและกรอกข้อมูลให้ครบก็พอ
5) นอกจากนี้ ปัจจุบันสามารถขอจด VAT และจดจัดตั้งบริษัท “พร้อมกันได้” ผ่านกรมพัฒนาธุรกิจการค้าโดยกรอกแบบคําขอจดทะเบียนภาษมูลค่าเพิ่มผ่านกรมพัฒนาธุรกิจการค้า (สามารถดาวน์โหลดแบบฟอร์มผ่านเว็บของ DBD ได้)
6) เมื่อมีรายได้หรือคาดว่าจะมีรายได้เกิน 1.8 ล้านในปีภาษีนั้น กิจการมี "หน้าที่" ต้องจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนทันที อย่างไรก็ตาม การจด VAT นำมาซึ่งภาระต่าง ๆ อย่างน้อยที่สุด ดังนี้
ก) เมื่อแจ้งหรือขอจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนแล้ว อาจขอเลิกเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนกับกรมสรรพากรได้ยากเพราะสรรพากรต้องตรวจสอบรายได้ของกิจการย้อนหลัง
ข) เมื่อจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนแล้ว กิจการมีภาระต้องยื่นเอกสารที่ชื่อว่า ภ.พ.30 ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป (กรณียื่นกระดาษ) หรือวันที่ 23 ของเดือนถัดไป (กรณียื่นออนไลน์) แม้เดือนนั้นจะไม่มีรายได้เลยก็ตาม (ยื่นแบบเปล่า) โดยลงรายการภาษีซื้อภาษีขายให้ถูกต้อง มิฉะนั้น อาจโดนภาษีย้อนหลัง
ค) ต้องออก “ใบกำกับภาษี” ให้ลูกค้าตามแบบและวิธีการที่กฎหมายกำหนด มิฉะนั้น จะมีโทษทั้งทางแพ่งหรือทางอาญาตามมา
ดังนั้น โดยสรุปคือ รายได้ไม่ถึง 1.8 ล้านก็แจ้งขอเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนได้ แต่ต้องพร้อมรับภาระตามกฎหมายภาษีอากรให้ได้ด้วย
ขอบคุณครับ
บทความโดย
พุทธพจน์ นนตรี (ทนายเนส)