278 จำนวนผู้เข้าชม |
Bank run เป็นศัพท์เฉพาะ หมายถึง ภาวะที่ผู้ฝากเงินระดมถอนเงินออกจากธนาคารจนธนาคารขาดสภาพคล่องและเสี่ยงล้มในที่สุด
ภาวะ Bank run มีมานานเป็นร้อยปีแล้วในประวัติศาสตร์การเงินการธนาคาร ล่าสุดคือการล่มสลายของธนาคาร SVB และ Signature Bank ซึ่งให้บริการแก่ผู้ประกอบการคริปโตฯเป็นหลัก และเกิดจาก SVB ซื้อ bond ของ รฐบ. เมกาที่ sensitive กับดอกเบี้ยที่พุ่งขึ้นสูง ทำให้ราคาตก ผู้ฝากที่เป็นผู้ประกอบการคริปโตซึ่งรู้เรื่องราคาตกจึงแห่ถอนเงินออก
ภาวะ Bank run ทำให้เกิดความเสี่ยงเรื่องสภาพคล่อง (liquidity risk) และอาจนำไปสู่การล่มของธนาคารจนลาม (contagion) ไปโดนธนาคารอื่นในระบบได้ ก่อให้เกิดความเสี่ยงเชิงระบบ (systematic risk) ในระบบการเงินการธนาคารในที่สุด
เมื่อเกิด Bank run ธนาคารกลางของแต่ละประเทศจะมีมาตรการควบคุมแตกต่างกันไป ไล่ตั้งแต่มาตรการแบบของสหรัฐฯที่ให้อำนาจรัฐบาลกลางสั่งเข้าช่วยเหลือทางการเงินผ่านสถาบันคุ้มครองเงินฝาก FDIC หรือสั่งปิดธนาคารที่ประสบปัญหาได้ ไปจนถึงวิธีการจัดการแบบกึ่งเสรีของอังกฤษที่ไม่ได้เน้นให้ธนาคารกลางมีอำนาจตามกฎหมายในการเข้าแทรกแซงมาก อาศัยแค่พระเดชพระคุณทางเศรษฐกิจ (economic power) ของ Bank of England เอา
ส่วนของไทยนั้น แนวทางค่อนข้างจะคล้ายสหรัฐฯ คือเมื่อธนาคารใดเสี่ยงล้ม (ไม่ว่าด้วยเหตุใดก็ตาม) จนอาจเกิด systematic risk ลามไปทั้งระบบแล้ว ธปท. จะใช้อำนาจตาม พ.ร.บ. ธนาคารแห่งประเทศไทย และ พ.ร.บ. สถาบันการเงิน ตั้งคณะกรรมการเข้าควบคุมธนาคารนั้นทันที จากนั้นก็ให้คณะกรรมการเข้าดำเนินกิจการของธนาคารนั้นทั้งหมดและทำรายงานเสนอ ธปท. ภายใน 120 วันพร้อมข้อมูลทางการเงินเพื่อให้ ธปท. พิจารณาว่าจะให้ดำเนินกิจการต่อไปหรือไม่ ถ้าเห็นควรก็สั่งให้ "ฟื้นฟู" ธนาคารนั้น แต่ถ้าไม่เห็นควร ก็ให้สั่ง "ปิด" ธนาคารนั้นเสียแล้วให้ธนาคารนั้น "ชำระบัญชี" ตามขั้นตอนและวิธีการที่กฎหมายกำหนด
นอกจากนี้ ธปท. ยังสามารถ rescue หรือกู้แบงค์ให้กลับมาดำเนินกิจการต่อได้ด้วยการให้ความช่วยเหลือทางการเงิน (financial assistance) (ให้กู้เงินนั่นเอง) แก่ธนาคารนั้นโดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ. ธนาคารแห่งประเทศไทย มาตรา 42 วิธีการนี้เรียกว่าbank rescue ใช้กรณีเห็นว่ายังพอพยุงแบบก์นั้นไม่ให้ล้มได้
นอกจากวิธีการข้างต้นแล้ว ธปท. ยังอาจอำนวยความสะดวกให้ธนาคารที่ฐานะการเงินดีเข้าซื้อทั้งหนี้ซื้อทั้งสินทรัพย์ของแบงก์ที่กำลังจะล้มนั้นได้ คือเข้าซื้อกิจการแบงก์นั้นนั่นเอง
ในส่วนของลูกค้าที่ฝากเงินที่ได้รับผลกระทบ ไทยเรามีกฎหมาย พ.ร.บ. สถาบันคุ้มครองเงินฝากซึ่งประกันว่าถ้าแบงก์ล้มไม่มีจ่าย สถาบันคุ้มครองเงินฝากจะจ่ายให้สูงสุดไม่เกิน 1 ล้านต่อผู้ฝาก 1 ราย ตรงนี้จะเห็นว่าต่างกับของอเมริกาตามที่เห็นในข่าวซึ่งรัฐบาลเขาต้องการสร้าง trust จึงให้ลูกค้าของแบงก์ที่เพิ่งล้มไปถอนเงินออกได้ทุกบาททุกสตางค์ (แสดงว่าประเทศนี้น่าจะรวยมาก แต่หลังฉากเป็นอย่างไรไม่รู้)
วิธีการอื่น ๆ ในการจัดการปัญหาแบงก์ล้มหรือ bank run ยังมีอีกมากแล้วแต่เครื่องมือที่ใช้ในทางกฎหมายและทางปกติประเพณีนิยมที่ทำกันในระบบการเงินการธนาคาร ส่วนจะใช้ได้มีประสิทธิภาพหรือไม่ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
ขอบคุณครับ
บทความโดย
พุทธพจน์ นนตรี (ทนายเนส)