2894 จำนวนผู้เข้าชม |
กรรมการบริษัทมักเป็นเจ้าของผู้ถือหุ้นและมักได้รับแต่งตั้งให้ทำหน้าที่ดูแลกิจการของบริษัทในฐานะนายจ้าง
แต่บางครั้งกรรมการก็อาจได้รับแต่งตั้งให้ ทำงานภายใต้ระเบียบข้อบังคับและรับเงินเดือนจากบริษัท เสมือนเป็นลูกจ้างของบริษัทอีกด้วยทั้งที่กรรมการท่านนั้นก็เป็นเจ้าของบริษัทแท้ ๆ
จึงเกิดคำถามว่า กรรมการเป็นลูกจ้างของบริษัทที่ตัวเองเป็นเจ้าของได้หรือไม่
คำถามนี้เป็นคำถามสำคัญ เพราะจะมีผลเรื่องการหักเงินประกันสังคมและหน้าที่ตามกฎหมายอื่นต่อไป
เพื่อตอบคำถามนี้ เรามาวิเคราะห์บทบัญญัติที่เกี่ยวข้องและแนวคำพิพากษาของศาลฎีกาต่อไปนี้กันครับ
1. ความเป็นลูกจ้างเกิดจาก “สัญญาจ้างแรงงาน”
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 575 บัญญัติว่า “อันว่าจ้างแรงงานนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่า ลูกจ้าง ตกลงจะทำงานให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่า นายจ้าง และนายจ้างตกลงจะให้สินจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้”
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 5 นิยามคำว่า “ลูกจ้าง” ไว้ว่า บุคคลซึ่งตกลงทำงานให้แก่นายจ้างโดยรับค่าจ้างไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไร
จากบทบัญญัติข้างต้นจะเห็นได้ว่า ความเป็นลูกจ้างเกิดจาก “ข้อตกลง” และข้อตกลงดังกล่าวเรียกว่า “สัญญาจ้างแรงงาน” ดังนั้น จึงต้องเข้าใจก่อนว่า “สัญญาจ้างแรงงาน” คืออะไร
2. สัญญาจ้างแรงงานมีลักษณะสำคัญคือการทำงานแลก “ค่าจ้าง” ภายใต้ “อำนาจบังคับบัญชา” ของนายจ้าง
สัญญาจ้างแรงงานเป็น “สัญญาต่างตอบแทน” ชนิดหนึ่ง กล่าวคือ เป็นสัญญาที่ลูกจ้างตกลงทำงานให้แก่นายจ้างและนายจ้างตกลงจ่าย “สินจ้างหรือค่าจ้าง” ตอบแทนการทำงานของลูกจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้ ดังนั้น จึงมีสำนวนว่า “no work, no pay” (ไม่ทำงานไม่จ่ายค่าจ้าง) เกิดขึ้น
การทำงานในที่นี้หมายถึงการทำงาน ภายใต้ระเบียบ ข้อบังคับ และคำสั่งโดยชอบของนายจ้าง หากฝ่าฝืน ย่อมถูกเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องมีหนังสือบอกกล่าวล่วงหน้าหรือชดใช้ค่าสินไหมทดแทน (ป.พ.พ. มาตรา 583) นายจ้างจึงมี “อำนาจบังคับบัญชา” เหนือลูกจ้างและลูกจ้างต้องอยู่ภายใต้อำนาจบังคับบัญชานั้นในขณะทำงานด้วย
อำนาจบังคับบัญชา ในที่นี้ หมายถึง อำนาจที่จะบังคับให้ลูกจ้างปฏิบัติตามระเบียบ ข้อบังคับ หรือคำสั่งของนายจ้างโดยชอบ และอำนาจในการลงโทษตามระเบียบหากลูกจ้างฝ่าฝืนได้
ดังนั้น การจะพิจารณาว่าสัญญาใดเป็นสัญญาจ้างแรงงานหรือไม่ต้องดูว่า
1) มีข้อตกลงให้อีกฝ่ายทำงานเพื่อแลกค่าจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้อีกฝ่ายหรือไม่ และ
2) มีข้อตกลงกำหนดให้อีกฝ่ายทำงานภายใต้ระเบียบข้อบังคับของฝ่ายผู้จ่ายค่าจ้างหรือไม่
หากปราศจากลักษณะสำคัญอย่างใดอย่างหนึ่ง 2 ประการนี้ สัญญานั้นก็ไม่ใช่สัญญาจ้างแรงงานและผู้ที่ทำงานให้ก็ไม่มีสถานะเป็นลูกจ้างเลย
คำวินิจฉัยของอธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานที่ 22/2536 ตกลงกันว่าจะเป็น นักแสดงในสังกัด เป็นระยะเวลาที่กำหนดโดยตกลงจะรับการฝึกสอนด้านการแสดงตลอดเวลาที่อยู่ในสังกัดและจะไม่ย้ายไปอยู่ค่ายอื่นเพื่อแลกค่าตอบแทนเดือนละ 4,000 บาท หากมีงานจากลูกค้าก็จะให้ไปออกงานและตกลงแบ่งค่าตอบแทนกัน ดังนี้ ย่อมไม่ใช่สัญญาจ้างแรงงานเพราะไม่มีการทำงานตอบแทนเพื่อแลกค่าจ้างแต่อย่างใด
ฎีกาที่ 51/2537 โจทก์เป็นช่างแต่งผมชาย ใช้สถานที่ของจำเลยเปิดบริการลูกค้าโดยจำเลยเป็นผู้จัดหาสถานที่ โต๊ะ เก้าอี้ และของใช้ต่าง ๆ ส่วนโจทก์มีกรรไกร ปัตตะเลี่ยน เครื่องมือใช้เช็ดหู รายได้จากการแต่งผมชายของโจทก์แบ่งกันคนละครึ่งระหว่างโจทก์กับจำเลย โดยจำเลยจ่ายส่วนที่จะได้แก่โจทก์ให้โจทก์ทุกวันที่ 1 และ 16 ของแต่ละเดือน ได้มีการตกลงเรื่องระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานว่า โจทก์ต้องตอกบัตรลงเวลาการทำงาน หากโจทก์ไม่มาทำงานหรือมาทำงานสายในวันใด โจทก์จะถูกหักค่าจ้าง โจทก์ได้รับบัตรประจำตัวพนักงานจากจำเลยเพื่อแสดงว่าเป็นพนักงานและจำเลยใช้ตรวจสอบในการอนุมัติให้เข้าออกบริเวณสถานที่ของจำเลย โจทก์ทำงานสัปดาห์ละ 6 วัน เห็นได้ว่าโจทก์มีเวลาทำงานปกติของวันทำงาน จำเลยมีอำนาจสั่งการและบังคับบัญชาให้โจทก์ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน กำหนดเวลาทำงานและตรวจสอบเวลาทำงานของโจทก์ กับมีอำนาจหักรายได้ของโจทก์ในกรณีที่โจทก์ขาดงานหรือมาทำงานสาย และเงินรายได้จากการแต่งผมที่จ่ายให้โจทก์ก็คำนวณได้ตามผลงานที่โจทก์ทำได้ ความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยเช่นนี้ ถือได้ว่าโจทก์ทำงานให้แก่จำเลยเพื่อรับค่าจ้างโดยคำนวณค่าจ้างตามผลงานที่โจทก์ทำได้ โจทก์จึงเป็นลูกจ้างของจำเลย มีสิทธิเรียกค่าชดเชยจากจำเลยได้
3. กรรมการเป็นลูกจ้างของบริษัทหรือไม่จากแนวคำพิพากษา
ศาลฎีกาวินิจฉัยประเด็นนี้โดยนำลักษณะสำคัญ 2 ประการของสัญญาแจ้งแรงงานมาเป็นจุดตัด กล่าวคือ
3.1 หากกรรมการทำงานโดยอิสระ ไม่ได้ทำงานภายใต้อำนาจบังคับบัญชาของบริษัท กรรมการนั้นก็ไม่ใช่ลูกจ้างของบริษัท
ฎีกาที่ 812/2548 โจทก์เข้าไปบริหารงานของบริษัทจำเลยในฐานะผู้ถือหุ้น การทำงานอิสระ ไม่ต้องมาทำงานทุกวัน ไม่อยู่ภายใต้บังคับบัญชาของผู้ใดในบริษัทจำเลยและไม่ต้องอยู่ภายใต้ระเบียบข้อบังคับการทำงานของจำเลย โจทก์จึงไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 แม้โจทก์จะได้รับค่าตอบแทนจากจำเลยเป็นเงินเดือน ก็มิใช่ค่าจ้างตามสัญญาจ้างแรงงาน เมื่อโจทก์มิใช่ลูกจ้างจำเลย จึงไม่ต้องหักเงินสมทบส่งสำนักงานประกันสังคม การที่จำเลยหักเงินที่โจทก์ได้รับจากจำเลยส่งเป็นเงินสมทบแก่สำนักงานประกันสังคมก็ไม่มีผลทำให้โจทก์กลับมีฐานะกลายเป็นลูกจ้างของจำเลย
ฎีกาที่ 7308/2544 ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯ ข้อ 2 และข้อ 47ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 583 หมายความว่า ลูกจ้างคือผู้ซึ่งตกลงทำงานให้แก่นายจ้างโดยรับค่าจ้าง ทั้งนี้ ลูกจ้างต้องปฏิบัติตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมของนายจ้าง หากลูกจ้างฝ่าฝืนนายจ้างมีสิทธิลงโทษลูกจ้างได้ หรืออีกนัยหนึ่งคือนายจ้างมีอำนาจบังคับบัญชา สามารถออกคำสั่งให้ลูกจ้างทำงานให้เป็นไปตามข้อบังคับการทำงานหรือระเบียบของนายจ้าง หากลูกจ้างฝ่าฝืน นายจ้างมีสิทธิลงโทษลูกจ้างได้
โจทก์มีตำแหน่งเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ของบริษัทจำเลยมีหน้าที่บริหารงานและควบคุมดูแลการทำงานของฝ่ายต่าง ๆ ให้เป็นไปตามนโยบายของจำเลย โจทก์ไม่ต้องไปนั่งทำงานประจำดังเช่นพนักงานทั่วไป คงไปประชุมเพียงเดือนละ 1 ครั้ง นอกนั้นจะสั่งการทางโทรศัพท์หรือเรียกพนักงานของจำเลยไปพบที่บริษัทที่โจทก์นั่งทำงานอยู่ โจทก์มีอำนาจบังคับบัญชาสูงสุดและไม่อยู่ภายใต้ระเบียบข้อบังคับในการทำงานของจำเลยแสดงว่าโจทก์ไม่ต้อง ไปทำงานภายใต้บังคับบัญชาของจำเลย โจทก์จึงมิได้เป็นลูกจ้างของจำเลย
ฎีกาที่ 2417/2544 ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯ ข้อ 2 และข้อ 47 ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 583 บทบัญญัติกฎหมายดังกล่าว หมายความว่า ลูกจ้างคือผู้ซึ่งตกลงทำงานให้แก่นายจ้างโดยได้รับค่าจ้าง ทั้งนี้ลูกจ้างต้องปฏิบัติตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบ หรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมของนายจ้าง หากลูกจ้างฝ่าฝืน นายจ้างมีสิทธิลงโทษลูกจ้างได้ หรืออีกนัยหนึ่งคือ นายจ้างมีอำนาจบังคับบัญชาสามารถออกคำสั่งให้ลูกจ้างทำงานให้เป็นไปตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบของนายจ้าง หากลูกจ้างฝ่าฝืน นายจ้างมีสิทธิลงโทษลูกจ้างได้
เมื่อฟังได้ว่าโจทก์เป็นผู้ถือหุ้นและประธานกรรมการของบริษัทจำเลย โจทก์เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของพนักงานในบริษัทจำเลยรองจากประธานกิตติมศักดิ์ โจทก์ไม่อยู่ภายใต้ข้อบังคับการทำงานของบริษัทจำเลย อีกทั้งไม่มีผู้ใดในบริษัทจำเลยสามารถสั่งการหรือบังคับบัญชาโจทก์ได้ โจทก์จึงมิได้เป็นลูกจ้างของจำเลย
ฎีกาที่ 3465/2524 ประธานกรรมการฝ่ายบริหารและกรรมการผู้จัดการบริษัทโจทก์เป็นบุคคลซึ่งที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นของบริษัทตั้งขึ้นให้มีอำนาจหน้าที่จัดการบริษัทตามข้อบังคับในความครอบงำของที่ประชุมใหญ่และเป็นผู้แทนแสดงความประสงค์ของบริษัทมิใช่บุคคลที่บริษัทตกลงรับเข้าทำงานทั้งมิใช่เป็นผู้ที่ ต้องทำงานภายใต้การควบคุมบังคับบัญชาของบริษัทประธานกรรมการฝ่ายบริหารและกรรมการผู้จัดการจึงมิใช่ลูกจ้างของบริษัทโจทก์ และจะเป็นลูกจ้างของบริษัทต่อเมื่อเป็นผู้ตกลงทำงานให้แก่บริษัทเพื่อรับค่าจ้างอีกชั้นหนึ่ง
ฎีกาที่ 2418/2544 โจทก์เป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งบริษัทจำเลยตั้งแต่เริ่มแรก ได้รับเงินเดือน ๆ ละ 237,600 บาท โดยเป็นกรรมการมาตลอดและเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทจำเลย โจทก์ไม่อยู่ภายใต้ระเบียบบังคับในการทำงานของบริษัทจำเลย เมื่ออายุเกิน 60 ปีก็ไม่ถูกปลดเกษียณไม่ต้องมาทำงานทุกวัน ไม่มีผู้ใดบังคับบัญชาโจทก์ ดังนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทจำเลยกับโจทก์หาได้มีลักษณะเป็นนายจ้างกับลูกจ้างไม่เพราะโจทก์มิได้อยู่ภายใต้ระเบียบข้อบังคับของจำเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งโจทก์ปฏิบัติงานโดยอิสระ ไม่ต้องมาทำงานทุกวัน และไม่อยู่ภายใต้บังคับบัญชาของจำเลย อันเป็นลักษณะสำคัญประการหนึ่งของสัญญาจ้างแรงงานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 แม้จะได้รับเงินเดือนจากบริษัทจำเลย ก็ยังถือไม่ได้ว่าบริษัทจำเลยได้ว่าจ้างโจทก์ โจทก์จึงไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลย
ฎีกาที่ 8785/2550 โจทก์เป็นหนึ่งในผู้เริ่มก่อการตั้งบริษัทจำเลยและเป็นผู้ถือหุ้นมาตั้งแต่เริ่มบริษัทจำนวน 16,000 หุ้น เป็นอันดับสามจากผู้ถือหุ้น 8 คน แต่ในปี 2544 ถือหุ้นจำนวน 40,000 หุ้น เป็นอันดับหนึ่ง และเป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อร่วมและประทับตราสำคัญของบริษัทตั้งแต่วันที่20 เมษายน 2536 ซึ่งเป็นวันเริ่มตั้งบริษัทจนถึงวันที่ 22 มกราคม 2546 ต่อมาวันที่ 16 มกราคม 2546 โจทก์ได้โอนหุ้นทั้งหมดให้แก่ ป. และ ก. โจทก์เป็นกรรมการผู้จัดการตั้งแต่เริ่มตั้งบริษัทจนถึงเดือนมกราคม 2546 การบริหารงานของโจทก์ไม่ต้องอยู่ภายใต้บังคับเกี่ยวกับการทำงาน จะมาทำงานในเวลาใดก็ได้ไม่ต้องบันทึกเวลาทำงาน โจทก์จึงมิใช่พนักงานที่ต้องอยู่ภายใต้ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย การที่โจทก์ได้รับเงินเดือนจากจำเลยจึงมิใช่ได้รับในฐานะเป็นพนักงานหรือลูกจ้างของจำเลย ส่วนการที่โจทก์บริหารงานภายใต้ที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นนั้นก็เป็นเพียงวิธีการครอบงำบริษัทจำกัดดังที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1144 เท่านั้น หาได้อยู่ภายใต้บังคับบัญชาของจำเลยอันมีลักษณะสำคัญประการหนึ่งของสัญญาจ้างแรงงานตาม ป.พ.พ. มาตรา 583 ไม่ ดังนั้น โจทก์จึงมิใช่ลูกจ้างของจำเลย
3.2 หากไม่ได้ทำงานโดยอิสระ แต่ทำงานภายใต้อำนาจบังคับบัญชาของบริษัท และทำงานแลกค่าตอบแทนในรูปของค่าจ้าง กรรมการผู้นั้นก็เป็นลูกจ้างของบริษัทอีกฐานะหนึ่งต่างหากจากการเป็นผู้แทนของบริษัทด้วย
ฎีกาที่ 4471/2530 โจทก์ได้รับแต่งตั้งจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นให้เป็นกรรมการของบริษัทจำเลย มีฐานะเป็นผู้แทนของบริษัท มีอำนาจกระทำการแทนจำเลย มิใช่เป็นลูกจ้างของจำเลย แต่การที่คณะกรรมการซึ่งเป็นผู้แทนของบริษัทจำเลยกำหนดให้โจทก์ทำหน้าที่ควบคุมการซื้อและจ่ายยา ให้ทำหน้าที่เป็นแพทย์เวร โดยได้รับค่าจ้างเดือนละ 15,000 บาท และโจทก์ต้องปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับของจำเลย ดังนี้ ถือว่าโจทก์มีฐานะเป็นลูกจ้างของจำเลยอีกฐานะหนึ่ง
ฎีกาที่ 336/2525 การที่โจทก์เป็นผู้ถือหุ้นและมีตำแหน่งเป็นกรรมการจัดการบริษัทจำเลยนั้น แม้โจทก์จะได้รับตำแหน่งด้วยการเลือกจากผู้ถือหุ้นและต้องอยู่ในตำแหน่งตามวาระที่กำหนดไว้ก็ตามแต่ตำแหน่งของโจทก์คือผู้บริหารงานของบริษัทซึ่งมีรายได้เป็นเงินเดือนหรือที่เรียกว่าค่าตอบแทนรายเดือน และโจทก์ก็ยังมีสิทธิและหน้าที่ในสวัสดิการของบริษัทเช่นเดียวกับพนักงานอื่นอีกด้วย ดังนั้น โจทก์จึงเป็นผู้ที่ได้ตกลงทำงานให้แก่บริษัทเพื่อรับค่าจ้างหรือค่าตอบแทนรายเดือน อันนับได้ว่าเป็นลูกจ้างตามความหมายในกฎหมายคุ้มครองแรงงาน
3.3 กรรมการแต่ในนามและไม่ได้ทำงานโดยแลกค่าจ้างและไม่ได้ทำงานภายใต้อำนาจบังคับบัญชาของบริษัท ไม่ใช่ลูกจ้างของบริษัท
ฎีกาที่ 1707/2525 การปฏิบัติงานของ ล. กรรมการผู้จัดการบริษัทโจทก์ไม่เป็นกิจจะลักษณะ ไปปฏิบัติงานบ้าง ไม่ปฏิบัติงานบ้างสุดแท้แต่จะมีสุขภาพดีหรือไม่ ไม่มีหลักเกณฑ์การทำงานแน่นอน แต่อย่างใด แม้เงินเดือนจำน้อย ล. ก็พอใจ เพราะไม่มีเงินก็ขอเอาจากประธานกรรมการบริษัทได้ แสดงว่า ล. เป็นเพียงกรรมการผู้จัดการแต่เพียงในนาม เพราะหาก ล.เป็นลูกจ้างของบริษัทโจทก์ก็จะปฏิบัติตนเช่นนั้นไม่ได้ ล. คงเป็นเพียงกรรมการของบริษัทโจทก์ตามมติที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นแต่อย่างเดียว มิได้ตกลงทำงานให้แก่บริษัทโจทก์อีกชั้นหนึ่ง ล. จึงมิใช่ลูกจ้างของบริษัทโจทก์
4. สรุป
จากแนวคำพิพากษาของศาลฎีกา เราอาจสรุปได้ว่า กรรมการที่เป็นเจ้าของบริษัทอาจเป็นลูกจ้างของบริษัทได้นอกเหนือจากการเป็นผู้แทนของบริษัท ถ้า กรรมการทำงานให้บริษัทภายใต้อำนาจบังคับบัญชาของบริษัท กล่าวคือ ทำงานภายใต้ระเบียบและข้อบังคับเรื่องการทำงานเช่นเดียวกับลูกจ้างอื่นทั่วไปของบริษัทนั่นเอง
หากกรรมการไม่ได้ทำงานให้บริษัทภายใต้อำนาจบังคับบัญชาดังกล่าว กรรมการก็ไม่มีฐานะเป็นลูกจ้างของบริษัทแต่อย่างใด
ขอบคุณครับ
พุทธพจน์ นนตรี
ทนายความ
สำนักกฎหมายณัฐพจน์ ลีกัล เซอร์วิส ให้บริการว่าความในเขตกรุงเทพและปริมณฑล รวมทั้งให้คำปรึกษาทางกฎหมายแก่ผู้มีอรรถคดี
ท่านสามารถตรวจสอบบริการของเราได้ที่หัวข้อ “บริการ” ในเว็บไซต์หรือติดต่อเราผ่านช่องทางที่ระบุไว้ด้านล่างสุดของหน้าหรือในหัวข้อ "ติดต่อเรา" ครับ