ดอกเบี้ยเกินอัตรานำมาหักต้นเงินได้หรือไม่

580 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ดอกเบี้ยเกินอัตรานำมาหักต้นเงินได้หรือไม่

ในการกู้เงินกัน ผู้กู้กับผู้ให้กู้อาจตกลงคิดดอกเบี้ยจากต้นเงินที่กู้ได้

ดอกเบี้ยที่คิดนี้ต้องไม่เกินเพดานที่กฎหมายกำหนด มิฉะนั้น ข้อตกลงส่วนดอกเบี้ยจะตกเป็น โมฆะ

เมื่อข้อตกลงส่วนดอกเบี้ยตกเป็นโมฆะ ก็เกิดปัญหาว่าผู้กู้มีสิทธินำดอกเบี้ยที่ชำระไปแล้วไปหักต้นเงินกู้เพื่อบรรเทาภาระหนี้ได้หรือไม่ 

ศาลฎีกามีโอกาสได้วินิจฉัยปัญหานี้หลายครั้ง แต่แนววินิจฉัยก็มักไม่ลงรอยกันนัก

ล่าสุด มี คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5376/2560 (ประชุมใหญ่) ซึ่งวินิจฉัยให้จำเลยมีสิทธินำดอกเบี้ยเกินอัตราไปหักต้นเงินกู้ "ได้" และ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 745/2565 ซึ่งวินิจฉัยว่า จำเลยนำดอกเบี้ยเกินอัตราไปหักต้นเงินกู้ "ไม่ได้"

ข้อความข้างต้นเป็นเพียง "ผล" ของคำพิพากษาเท่านั้น ยังไม่เพียงพอที่จะรับฟังเป็นยุติอะไรได้ ต้องดู "รายละเอียด" ในคำพิพากษาทั้งสองฉบับแบบเต็มอีกครั้งเพื่อพิจารณาอย่างละเอียด 

วันนี้ผมขออนุญาตวิเคราะห์คำพิพากษาศาลฎีกาทั้ง 2 ฉบับ รวมทั้งตั้งข้อสังเกตในจุดที่คำพิพากษาศาลฎีกาน่าจะคลาดเคลื่อนไปจากหลักกฎหมายที่ควรจะเป็นครับ 

1. หลักกฎหมายสำคัญที่เกี่ยวข้องในฎีกา

ผมขอเริ่มด้วยการย่อหลักกฎหมายที่ผมพบในฎีกาทั้ง 2 ฉบับก่อนดังนี้ครับ  

1.1 ฎีกาทั้ง 2 ฉบับเป็นเรื่องการ "กู้ยืมเงิน"

การกู้ยืมเงินเป็น เอกเทศสัญญา (specific contract) ประเภทหนึ่ง อยู่ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 เอกเทศสัญญา ลักษณะ 9 หมวด 2 เรื่องยืมใช้สิ้นเปลือง การกู้ยืมเงินจึงเป็น “สัญญายืมใช้สิ้นเปลือง” และต้องนำบทบัญญัติว่าด้วยสัญญายืมใช้สิ้นเปลืองมาปรับใช้กับข้อเท็จจริงในฎีกาด้วย

1.2 “สัญญายืมใช้สิ้นเปลือง” ปรากฏอยู่ในมาตรา 650 มีองค์ประกอบ 3 ข้อ คือ 1) มีคู่สัญญาตั้งแต่ 2 ฝ่ายขึ้นไป 2) มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ยืมได้ใช้สอยทรัพย์สินประเภทใช้ไปสิ้นไปจำนวนหนึ่งโดยผู้ให้ยืมซึ่งเป็นเจ้าของทรัพย์สิน โอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้น ให้ผู้ยืม และ 3) ผู้ยืมตกลงว่าจะ คืน ทรัพย์สินเป็นประเภท ชนิด และปริมาณเดียวกันให้แทนทรัพย์สินที่ให้ยืม

ศาลนำหลักการข้างต้นไปวิเคราะห์ว่า "หุ้นกู้ (debenture)" ในฎีกาที่ 745/2565 เป็นสัญญากู้หรือไม่ 

1.3 สัญญากู้เป็นสัญญาที่ “บริบูรณ์” ได้ด้วยการ “ส่งมอบ” การส่งมอบจะกระทำด้วยประการใดก็ได้ เช่น โอนเงินเข้าบัญชีธนาคาร หรือแม้แต่การแปลงหนี้กันก็ได้ เป็นต้น

1.4 สัญญากู้ “ไม่ต้องทำตามแบบ” แต่ต้องมี “หลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายผู้กู้เป็นสำคัญ” มาแสดงต่อศาลจึงจะฟ้องร้องบังคับคดีกันได้

หลักฐานเป็นหนังสือ (evidence in writing) จะเป็นเอกสารอะไรก็ได้ ขอให้มีข้อความที่อ่านแล้วพอเข้าใจว่ามีการกู้เงินกันก็พอ

จุดนี้เป็นจุดสำคัญในฎีกาที่ 745/2565 เพราะศาลวินิจฉัยว่า ใบหุ้นกู้ไม่ใช่สัญญากู้ แต่มีสถานะเป็น “หลักฐานเป็นหนังสือ” ที่แสดงว่ามีการกู้กันแล้ว และเมื่อเป็นหลักฐานเป็นหนังสือที่ไม่ใช่หนังสือสัญญากู้ จึงไม่ใช่ตราสารที่ต้องติดอากรแสตมป์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 118 ดังนั้น แม้ไม่ติดอากรแสตมป์ก็รับฟังเป็นพยานหลักฐานได้

1.5 สัญญากู้อาจเรียก “ดอกเบี้ย” กันได้ แต่จะเรียกกันตามอำเภอใจไม่ได้

มาตรา 654 กำหนดเพดานไว้ว่าให้เรียกดอกเบี้ยกันได้เพียง 15% ต่อปีเท่านั้น หากเกินนั้นท่านให้ปรับลงมาเหลือ 15% เสีย มาตรา 654 จึงไม่ใช่บท “ต้องห้าม” เพราะยังให้โอกาสลดอัตราดอกเบี้ยลงมาเท่าจำนวนที่กฎหมายกำหนดอยู่

อย่างไรก็ตาม  พ.ร.บ. ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475 ซึ่งยกเลิกโดย พ.ร.บ. ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2560 กำหนดไว้ในมาตรา 4 (1) (หรือในมาตรา 3 ของกฎหมายฉบับเดิม) “ห้าม” เรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด

ดังนั้น การเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราจึงไม่ต้องห้ามตามมาตรา 654 แต่ต้องห้ามตามกฎหมายพิเศษคือ พ.ร.บ. ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา การเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา 15% ของต้นเงินต่อปีจึง “ต้องห้ามชัดแจ้งตามกฎหมาย” ตกเป็น โมฆะ ตามมาตรา 150 ของ ป.พ.พ.  

1.6 สัญญากู้ที่คิดดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดตกเป็นโมฆะ แต่โมฆะเฉพาะในส่วนของดอกเบี้ยเท่านั้น (ตามหลักโมฆะแยกส่วน (severability) ในมาตรา 173) สัญญาส่วนต้นเงินไม่ตกเป็นโมฆะแต่อย่างใดและฟ้องเรียกกันได้ตามปกติพร้อม “ดอกเบี้ยผิดนัด” ร้อยละ 7.5 (เดิม) ซึ่งเปลี่ยนเป็นร้อยละ 5 เมื่อ 11 เมษายน 2564 ที่ผ่านมา

1.7 การเรียกดอกเบี้ยเป็น “นิติกรรม” อย่างหนึ่ง เมื่อนิติกรรมการเรียกดอกเบี้ยตกเป็น “โมฆะ” ก็ต้องพิจารณามาตรา 172 ของ ป.พ.พ. ซึ่งกำหนดว่า นิติกรรมนั้นเสียเปล่ามาแต่ต้นเสมือนว่าไม่เคยทำนิติกรรมนั้นกันมาเลย ให้สัตยาบันกันไม่ได้ และใครที่มีส่วนได้เสียก็อ้างความเสียเปล่านี้ได้ทั้งสิ้น

ในส่วนของการ “การคืนทรัพย์สินอันเกิดจากโมฆะกรรม" กล่าวคือ "ดอกเบี้ยเกินอัตราที่เผลอชำระไปแล้ว” นั้น วรรคสองของมาตรา 172 กำหนดว่า ให้นำบทบัญญัติเรื่อง “ลาภมิควรได้” มาใช้บังคับ

ดังนั้น การคืนดอกเบี้ยส่วนที่ตกเป็นโมฆะจึงต้อง คืนตามหลักเรื่อง “ลาภมิควรได้”  เป็นสำคัญครับ

1.8 บทบัญญัติในเรื่อง “ลาภมิควรได้” ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ได้แก่ มาตรา 406, 407 และมาตรา 411 

“ลาภมิควร” เป็นมูลที่ก่อให้เกิด “หนี้” อย่างหนึ่ง ผู้ที่รับทรัพย์สินมาฐานลาภมิควรได้จึงต้อง “คืน” ทรัพย์สินแก่เขาไปเพราะเป็นทรัพย์สินที่ได้มาโดยปราศจากมูลอันจะอ้างตามกฎหมาย ตามมาตรา 406 ดังนั้น ดอกเบี้ยเกินอัตราที่ผู้ให้กู้ได้รับไปจึงเป็นลาภมิควรได้อย่างหนึ่งที่ ต้องคืน แก่เจ้าของ "เว้นแต่" จะเข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 407 และมาตรา 411

ข้อยกเว้นตามมาตรา 407 เป็นเรื่องที่ผู้ได้รับทรัพย์สินฐานลาภมิควรได้ไม่จำต้องคืนทรัพย์สินให้แก่เจ้าของเพราะเจ้าของกระทำการ “ชำระหนี้ตามอำเภอใจ” โดย “รู้” อยู่ว่าตน “ไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระ” เช่น รู้ว่าตัวเองชำระหนี้ครบแล้วก็ยังไปชำระหนี้ซ้ำทั้งที่รู้ว่าไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระอีก หรือชำระดอกเบี้ยไปทั้งที่รู้ว่าเป็นดอกเบี้ยเกินอัตรา เป็นต้น กรณีนี้ผู้ที่ชำระหนี้ตามอำเภอใจก็ “ไม่มีสิทธิ” ได้รับทรัพย์สินที่ชำระไปแล้วคืนเลยเว้นแต่จะตกลงกันเป็นอย่างอื่น 

เหตุผลเพราะว่ากรณีนี้เปรียบเสมือนผู้กู้ยอมชำระดอกเบี้ยให้เปล่า ๆ ทั้งที่รู้ว่าตัวเองไม่มีหน้าที่ต้องชำระ จึงถือเสมือนว่าผู้กู้ชำระหนี้ให้ โดยเสน่หา ดังนั้น ผู้กู้ที่รู้อยู่ว่าตัวเองไม่มีหน้าที่จะต้องชำระดอกเบี้ยที่เกินอัตราจึงไม่ถือว่าเสียเปรียบและไม่มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยที่ชำระไปแล้วคืน เมื่อไม่มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยคืน ดอกเบี้ยที่ชำระไปตามอำเภอใจนี้ก็เอามาหักกับต้นเงินไม่ได้ ต้องถือว่าให้กันไปเปล่า ๆ เลยทันที

ส่วนข้อยกเว้นตามมาตรา 411 เป็นเรื่องที่บุคคลหนึ่งกระทำการชำระหนี้ฝ่าฝืนมาตรฐานที่ระบบกฎหมายยอมรับได้ เช่น กฎหมายห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราแต่ก็ยังฝ่าฝืนไปชำระดอกเบี้ยที่เกินอัตรานั้นอยู่ เป็นต้น ผู้กู้ซึ่งเป็นผู้ชำระจึง ไม่มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยคืน ตามมาตรา 411 อีกมาตราหนึ่ง

2. ฎีกาที่ 5376/2560 และฎีกาที่ 745/2565

ฎีกาที่ 5376/2560 (ประชุมใหญ่) ตัดสินว่า “…การที่จำเลยยอมชำระดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้แก่โจทก์ ถือได้ว่าเป็นการชำระหนี้ฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 411 จำเลยหาอาจจะเรียกร้องให้คืนเงินดอกเบี้ยที่ชำระได้ไม่… โจทก์ในฐานะผู้ให้กู้เป็นฝ่ายเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้จากจำเลย เมื่อข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยตกเป็นโมฆะแล้ว และจำเลยไม่อาจเรียกร้องให้คืนเงินดอกเบี้ยที่ชำระฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายได้ โจทก์ก็ย่อมไม่มีสิทธิได้ดอกเบี้ยดังกล่าวด้วย ต้องนำดอกเบี้ยที่จำเลยชำระให้แก่โจทก์ 7,500 บาท ไปหักเงินต้น…”

ส่วนฎีกาที่ 745/2565 ตัดสินว่า “… แต่จำเลยที่ 1 เป็นผู้กำหนดผลตอบแทนเอง ถือว่าจำเลยที่ 1 กระทำการตามอำเภอใจเหมือนหนึ่งว่าเพื่อชำระหนี้โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 407 จำเลยที่ 1 จึงไม่อาจเรียกร้องคืนด้วยการนำมาคิดหักกลบกับต้นเงินกู้ยืมที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระแก่โจทก์ได้…”  

จากฎีกาทั้งสองฉบับจะเห็นได้ว่าฎีกาฉบับที่ 1 ให้นำดอกเบี้ยเกินอัตราไปหักต้นเงิน “ได้” ส่วนฎีกาที่ 2 “ไม่” ให้นำดอกเบี้ยเกินอัตราไปหักต้นเงินได้ ดูเผิน ๆ อาจคิดว่าฎีกาที่ 2 “กลับหลัก” ฎีกาฉบับที่ 1 เพราะข้อเท็จจริง “คล้ายกัน” แต่ความจริงแล้วอาจไม่ใช่อย่างนั้นเสมอไป

เพื่อความกระจ่าง ผมขออธิบายดังนี้ครับ

ก) ข้อเท็จจริงอันนำไปสู่ผลของคำพิพากษา

ฎีกาที่ 5376/2560 (ป) วินิจฉัยว่า จำเลย (ผู้กู้) “ไม่มีส่วนรู้เห็น” กับการกำหนดดอกเบี้ยที่เกินอัตรา มีเพียงโจทก์ (ผู้ให้กู้) ฝ่ายเดียวเท่านั้นที่เป็นผู้กำหนดดอกเบี้ยนี้เอง

ส่วนฎีกาที่ 745/2565 วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 (ผู้กู้) เป็นฝ่ายกำหนดดอกเบี้ยที่เกินอัตราเองและชำระดอกเบี้ยนั้นไปโดย “รู้” แล้วว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระ และไม่ปรากฏว่า “… โจทก์ซึ่งลงทุนในฐานะผู้ถือหุ้นกู้กระทำโดยไม่สุจริต …” แต่อย่างใด

ดังนั้น จำเลยในฎีกาที่ 5376/2560 (ป) จึง “ไม่ได้ชำระหนี้ตามอำเภอใจ” ตามมาตรา 407 เพียงแต่ชำระหนี้โดย “ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย” ตาม “มาตรา 411” เท่านั้น ศาลจึงนำมาตรา 411มาวินิจฉัยเพียงมาตราเดียว

ส่วนจำเลยในฎีกาที่ 745/2565 เป็นผู้กู้และกำหนดดอกเบี้ยที่เกินอัตราเองโดยไม่ปรากฏว่าโจทก์ผู้ให้กู้มีส่วนรู้เห็นด้วย จึงเท่ากับว่าจำเลยที่ 1 “…กระทำการตามอำเภอใจเหมือนหนึ่งว่าเพื่อชำระหนี้โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระ…” กรณีจึงเข้า “มาตรา 407” อย่างชัดแจ้ง ศาลจึงปรับแค่มาตรา 407 โดยไม่ปรับมาตรา 411 มาวินิจฉัย 

อย่างไรก็ตาม แม้ศาลตามฎีกาที่ 745/2565 จะไม่นำมาตรา 411 มาวินิจฉัย ผู้เขียนก็เห็นว่า ข้อเท็จจริงตามฎีกาเข้ากรณีตามมาตรา 411 แล้วและควรปรับทั้งมาตรา 407 และมาตรา 411เข้ากับข้อเท็จจริงด้วย

ข) “ผล” ของคำพิพากษา

แม้ฎีกาทั้ง 2 ฉบับจะมีข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญที่ต่างกัน แต่ “ผล” ของคำพิพากษาก็เหมือนกัน กล่าวคือ จำเลย (ผู้กู้) “ไม่มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยคืน”

ในส่วนนี้ ฎีกาทั้ง 2 ฉบับให้เหตุผลว่า

“โจทก์” ไม่มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยที่เกินอัตราเพราะข้อตกลงส่วนดอกเบี้ยนี้ตกเป็น “โมฆะ”

ส่วน “จำเลย” ไม่มีสิทธิได้รับดอกเบี้ย “คืน” เพราะจำเลยในฎีกาปี 60 (ป) ชำระดอกเบี้ย “ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย” ส่วนจำเลยในฎีกาปี 65 ชำระดอกเบี้ย “ตามอำเภอใจทั้งที่รู้ว่าตัวเองไม่มีหน้าที่ต้องชำระ”

แต่จุดที่ “แปลก” ที่สุด ก็คือ

ความเห็นของที่ประชุมใหญ่ในฎีกาปี 60 ที่ว่า “…เมื่อข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยตกเป็นโมฆะแล้ว และจำเลยไม่อาจเรียกร้องให้คืนเงินดอกเบี้ยที่ชำระฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายได้ โจทก์ก็ย่อมไม่มีสิทธิได้ดอกเบี้ยดังกล่าวด้วย…” จึงต้องนำดอกเบี้ยที่ตกเป็นโมฆะนั้น “…ไปหักเงินต้น…” เป็นความเห็นที่แปลกมาก เพราะศาลวินิจฉัยเองว่า “… จำเลยไม่อาจเรียกร้องให้คืนเงินดอกเบี้ย…” แต่กลับยอมให้จำเลยเอาดอกเบี้ยไป “…หักเงินต้น…” ได้ซึ่งก็เท่ากับว่าศาลยอมคืนดอกเบี้ยให้จำเลยแล้วให้จำเลยเอาไปหักกับเงินต้นทั้งที่ศาลกล่าวไว้เองแล้วว่าจำเลยไม่มีสิทธิได้คืน  

จากข้อเท็จจริงดังกล่าวจะเห็นได้ว่า ฎีกาปี 60 มี “เหตุผลพิเศษ” เพื่อประโยชน์แห่งความ “ยุติธรรม” แท้ ๆ แต่อาจไม่ถูกต้องนักในแง่ของ “ตรรกะ” และ “ผล” ทางกฎหมาย ฎีกาฉบับนี้จึงควรถูกมองว่า “แหวกแนว” ส่วนควรจะเดินตามหรือไม่ก็ลองพิเคราะห์ดูครับ เป็นคำถามปลายเปิด

3. สรุป

ว่ากันโดยกฎหมายแล้ว การจะวินิจฉัยว่าดอกเบี้ยที่เกินอัตราที่กฎหมายกำหนดจะ “เรียกคืน” ได้หรือไม่ต้องพิจารณามาตรา 406, 407 และ 411 และข้อเท็จจริงในแต่ละคดีประกอบกัน

หากฟังข้อเท็จจริงได้ว่าผู้กู้ชำระหนี้ตามอำเภอใจ ก็เรียกคืนและเอาไปหักต้นเงินไม่ได้ตามมาตรา 407

แต่หากผู้กู้ไม่ได้ชำระหนี้ตามอำเภอใจ แต่ชำระหนี้ดอกเบี้ยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ก็เรียกดอกเบี้ยคืนและเอาไปหักกับต้นเงินไม่ได้ตามมาตรา 411

อย่างไรก็ตาม กรณีมีเหตุผลพิเศษบางประการ ศาลก็อาจอนุญาตให้นำมาหักกับต้นเงินได้ดังที่ปรากฎในฎีกาที่ 5376/2560 (ป) และฎีกาฉบับอื่น ๆ ที่ออกมาช่วงหลัง เช่น คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3140/2565 ครับ

4. ข้อสังเกต

ผู้เขียนเข้าใจเองว่า ศาลฎีกาช่วงหลังปี 60 เป็นต้นมาเริ่มวางหลักว่า ถ้า “ผู้กู้” เสนอที่จะชำระดอกเบี้ยในอัตราที่เกินกว่าที่กฎหมายกำหนดและชำระดอกเบี้ยนั้นไป ก็เท่ากับว่าเขา “รู้” แล้วว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระ ศาลจะวินิจฉัยว่าไม่ต้องคืนดอกเบี้ยให้ตามมาตรา 407 มาตราเดียว

แต่ถ้า “ผู้ให้กู้” เป็นผู้กำหนดดอกเบี้ยเกินอัตราและผู้กู้ซึ่งไม่ได้มีส่วนกำหนดอัตราดอกเบี้ยนั้นด้วยก็ชำระดอกเบี้ยนั้นไป ก็เป็นเรื่องที่ผู้กู้ “ไม่รู้” ว่าตน “ไม่มี” ความผูกพันที่จะต้องชำระหนี้ ศาลจึงไม่ปรับว่าเป็นกรณีตามมาตรา 407 แต่จะปรับว่าเป็นเรื่องชำระดอกเบี้ยฝ่าฝืนต่อกฎหมายตามมาตรา 411 แทนเพียงอย่างเดียว

ที่เป็นเช่นนี้เพราะศาลฎีกาวินิจฉัยมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2473 แล้วว่าปัญหาเรื่อง “รู้” หรือ “ไม่รู้” ในมาตรา 407 เป็น “ปัญหาข้อเท็จจริง” (ดูฎีกาที่ 775/2473 และฎีกาที่ 1025/2487 ประกอบ) ซึ่งต้องดูข้อเท็จจริงเป็นรายกรณีไป นี่จึงอาจเป็นเหตุผลว่าทำไมบางฎีกาปรับแค่มาตรา 411แต่ไม่ปรับมาตรา 407 หรือบางครั้งก็ปรับทั้งมาตรา 407 และมาตรา 411 ด้วย

อย่างไรก็ตาม ผมไม่ขอยืนยันว่า ความเข้าใจของผมข้างต้นถูกต้องหรือไม่

ขอบคุณครับ

พุทธพจน์ นนตรี

ทนายความ

สำนักงานกฎหมายณัฐพจน์ ลีกัล เซอร์วิส ให้บริการว่าความในเขตกรุงเทพและปริมณฑล รวมทั้งให้คำปรึกษาทางกฎหมายแก่ผู้มีอรรถคดี

ท่านสามารถตรวจสอบบริการของเราได้ที่หัวข้อ “บริการ” ในเว็บไซต์หรือติดต่อเราผ่านช่องทางที่ระบุไว้ด้านล่างสุดของหน้าหรือในหัวข้อ "ติดต่อเรา" ครับ
 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้