256 จำนวนผู้เข้าชม |
เวลาทำสัญญากับคู่ค้าต่างชาติที่ใช้ภาษาอังกฤษ หลายคนอาจสะดุดตากับคำว่า “consideration” ในสัญญาหน้าแรก เช่น
“NOW, THEREFORE, in consideration of the mutual agreements herein contained,….”
คำ ๆ นี้แปลว่าอะไรในบริบทของสัญญา
ปกติคำว่า consideration แปลว่า “การพิจารณา” ตามความหมายที่ปรากฏในพจนานุกรมภาษาอังกฤษ -ไทย แต่หากใช้ในบริบทของสัญญาแบบอังกฤษแล้ว คำ ๆ นี้อาจแปลได้คร่าว ๆ ว่า “สิ่งตอบแทน” “การตอบแทน” หรือ “การแลกเปลี่ยน” ทันทีครับ
ดังนั้น สำนวนที่ว่า in consideration of จึงอาจแปลเบื้องต้นได้ว่า “เพื่อแลกเปลี่ยนกับ” หรือ “เพื่อตอบแทนกับ…” ครับ
เมื่อทราบดังนี้แล้ว ประโยคภาษาอังกฤษข้างต้นจึงอาจแปลได้ว่า
“บัดนี้ เพื่อตอบแทนข้อตกลงที่กำหนดไว้ในสัญญา….” ครับ
เมื่อถึงจุดนี้ หลายท่านอาจสงสัยว่าทำไมเราต้องมีอะไรบางอย่างตอบแทนกันก่อนในการทำสัญญา ที่เป็นเช่นนี้เพราะว่าสัญญาที่ใช้ในประเทศอังกฤษ สหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และประเทศที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรดิอังกฤษ เช่น สิงคโปร์ หรือมาเลเซีย เป็นสัญญาที่อยู่ภายใต้ระบบที่ถือคำพิพากษาของศาลเป็นกฎหมาย (common law) ซึ่งมีองค์ประกอบหลัก ๆ อยู่ 4 องค์ประกอบ ได้แก่
1. Offer (คำเสนอ)
2. Acceptance (คำสนอง)
3. Consideration (สิ่งแลกเปลี่ยนตอบแทนที่มีค่า) และ
4. Intention to create legal relations (เจตนามุ่งประสงค์ที่จะผูกนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคล)
อย่างไรก็ตาม บางประเทศอาจมีองค์ประกอบแตกต่างจากที่กล่าวมานี้เล็กน้อย เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา มี 5 องค์ประกอบ ได้แก่
1. Mutual assent (เจตนาต้องตรงกัน)
2. Expressed by a valid offer and acceptance (โดยคำเสนอและคำสนองที่ทำโดยชอบ)
3. Adequate consideration (สิ่งแลกเปลี่ยนตอบแทนที่มีค่าและเพียงพอ)
4. Capacity (ความสามารถในการทำนิติกรรม) และ
5. Legality (ความชอบด้วยกฎหมายของนิติกรรม)
จะเห็นได้ว่าองค์ประกอบข้อที่ 3. Consideration เป็นองค์ประกอบหนึ่งที่ต้องมีในสัญญาเพื่อให้สัญญามีผลบังคับใช้ได้ หากขาดองค์ประกอบใดองค์ประกอบหนึ่งข้างต้นแล้ว สัญญานั้นจะใช้บังคับในประเทศต้นทางที่เป็นคู่สัญญากับเราไม่ได้ทันที ดังนั้น ประโยคทำนองที่ว่า “…in consideration of the mutual agreements…” หรือ “…in consideration of the premises and the mutual covenants herein contained,…” ที่ปรากฎในสัญญาจึงสำคัญเพราะมีผลต่อความสมบูรณ์ของสัญญาในระบบกฎหมายแบบจารีตประเพณี (common law) นั่นเอง
อย่างไรก็ตาม องค์ประกอบข้างต้นไม่ใช่องค์ประกอบของสัญญาตามกฎหมายไทย ดังนั้น สัญญาแบบไทย ๆ จึงไม่จำเป็นต้องมี consideration หรือประโยคทำนองที่แปลจากภาษาอังกฤษข้างต้นในสัญญาก็ได้ครับ
หวังว่าจะได้รับความรู้ไม่มากก็น้อยครับ
ขอบคุณครับ
บทความโดย
พุทธพจน์ นนตรี (ทนายเนส)