348 จำนวนผู้เข้าชม |
Bankruptcy (ล้มละลาย) เป็นกระบวนการชำระสะสางหนี้อย่างหนึ่งด้วยการให้สิทธิแก่เจ้าหนี้ฟ้องลูกหนี้ซึ่ง 'มีหนี้สินล้นพ้นตัว' (insolvent) เป็นคดีต่อศาลเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด (receivership order/bankruptcy order) ของลูกหนี้และตั้งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ (official receiver) ขึ้นมาจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้เพื่อแบ่งแก่เจ้าหนี้ทั้งหลายต่อไปได้
ตามกฎหมายไทยแล้ว กระบวนการล้มละลายของไทยจะเริ่มจากการที่เจ้าหนี้ ‘ฟ้อง’ ลูกหนี้ที่มีหนี้กับตนเกิน 1 ล้านบาท (กรณีบุคคลธรรมดา) หรือเกิน 2 ล้านบาท (กรณีลูกหนี้เป็นนิติบุคคล) เป็นคดีล้มละลายต่อศาลล้มละลายกลาง (ที่ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ) เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด เมื่อศาลเห็นว่าลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัวจริง หนี้นั้นเกิน 1 ล้านบาท (กรณีบุคคลธรรมดา) หรือเกิน 2 ล้านบาท (กรณีนิติบุคคล) จริง และได้ข้อเท็จจริงอย่างอื่นตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว ศาลจะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด (bankruptcy order) ทันที และจะประกาศคำสั่งนั้นในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้คนทั่วไปได้ทราบด้วย
เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว ‘ลูกหนี้ก็หมดสิทธิดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของตน’ ทันทีเพราะเกิด ‘สภาวะพักชำระหนี้’ (automatic stay) ขึ้นแล้ว เจ้าหนี้ทั้งหลายก็หมดสิทธิฟ้องลูกหนี้ ‘เป็นคดีใหม่’ ด้วยเช่นกันเพราะอำนาจจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้และอำนาจดำเนินคดีเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ตกอยู่ในมือ ‘เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์’ (official receiver) ทันทีตามกฎหมาย หากลูกหนี้ขืนทำอะไรโดยพลการ การนั้น ๆ ย่อมตกเป็น ‘โมฆะ’ (void) ทันที
หลังจากศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว เจ้าหนี้ ‘ทุกราย’ ของลูกหนี้ต้องยื่น ‘คำขอรับชำระหนี้’ (claim) ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในระยะเวลา 2 เดือนนับแต่วันที่คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดได้รับการประกาศในหนังสือราชกิจจานุเบกษา (Royal Gazette) หากยื่นไม่ทัน และไม่มีเหตุอันสมควรตามที่กฎหมายกำหนด เจ้าหนี้รายนั้นหมดสิทธิได้รับชำระหนี้ทันที
ระหว่างนี้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ (เรียกสั้น ๆ ว่า ‘จพท.’) จะเรียกประชุมเจ้าหนี้ของลูกหนี้ทุกราย หากลูกหนี้ยื่น ‘คำขอประนอมหนี้’ เข้ามา เจ้าหนี้ต้องมีมติว่าจะรับหรือไม่รับ หากรับ จพท. จะรายงานศาลเพื่อขอให้ศาลมี ‘คำสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้’ เมื่อศาลเห็นชอบแล้ว ข้อตกลงประนอมหนี้นั้นจะ ‘ผูกพัน’ เจ้าหนี้ทุกคนที่เห็นชอบด้วยต่อไป แต่หากเจ้าหนี้ไม่รับข้อเสนอประนอมหนี้ฯ เจ้าหนี้ต้องลงมติให้ลูกหนี้ล้มละลายเพื่อให้ จพท. ทำรายงานเสนอศาลเพื่อให้ศาลมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายต่อไป
เมื่อศาลรับรายงานจาก จพท. แล้วและรายงานนั้นแจ้งว่าเจ้าหนี้ได้ลงมติให้ลูกหนี้ล้มละลายหรือมีเหตุประการอื่นตามที่กฎหมายกำหนด ศาลจะพิพากษาให้ลูกหนี้เป็น ‘บุคคลล้มละลาย’ (declare bankrupt by a court) ทันที คำพิพากษานี้จะต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้ประชาชนทั่วไปรวมทั้งคู่กรณีที่เกี่ยวข้องรับทราบด้วย
ระหว่างนี้ จพท. จะรวบรวมทรัพย์สิน หนี้สิน สิทธิเรียกร้อง ของลูกหนี้ แล้วจัดการชำระสะสางเพื่อเอาเงินมาชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ตามสัดส่วนที่อนุมัติจากคำขอรับชำระหนี้ต่อไป กองทรัพย์สินเหล่านี้ถือเป็นกองทรัพย์สินในคดีล้มละลาย จพท. มีอำนาจจัดการทรัพย์สินเหล่านี้ได้แต่เพียงผู้เดียวและมีสิทธิจัดการต่อไปได้แม้ลูกหนี้ได้รับการปลดจากล้มละลายก็ตาม ทั้งนี้ เพื่อเอาเงินมาชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้นั่นเอง
การเป็นบุคคลล้มละลายเป็นเพียง ‘สถานะทางกฎหมาย’ (legal status) เพราะเมื่อเป็นบุคคลล้มละลายครบ 3 ปีแล้วโดยไม่เคยล้มละลายมาก่อนหรือไม่ได้เป็นลูกหนี้ทุจริตเลย ลูกหนี้ก็จะได้รับคำสั่ง ‘ปลดจากล้มละลาย’ (discharge from bankruptcy) จากศาล มีผลทำให้ ‘หนี้’ ของลูกหนี้ที่มีอยู่ ‘ก่อน’ ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด (กฎหมายเรียกว่า ‘หนี้ทั้งปวงอันพึงขอรับชำระได้’) ระงับสิ้นไปทั้งหมด เว้นแต่หนี้บางชนิดที่กฎหมายไม่ให้ระงับ เช่น หนี้ภาษีอากร เป็นต้น
เมื่อปลดจากล้มละลายแล้ว สถานะความเป็นบุคคลล้มละลายก็สิ้นสุดลงไปด้วย จพท. มีหน้าที่โฆษณาคำสั่งปลดจากล้มละลายในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้ประชาชนทั่วไปรวมทั้งคู่กรณีที่เกี่ยวข้องได้ทราบทั่วกัน และลูกหนี้ก็จะได้ ‘เริ่มต้นชีวิตใหม่’ (fresh start) โดยไม่มีหนี้เดิมให้ห่วงกังวลอีก
อย่างไรก็ตาม 'ข้าราชการ' มักจะ 'กลัวคดีล้มฯ' เพราะหากศาลพิพากษาให้ล้มละลายเมื่อไหร่ ก็ถือว่าข้าราชการคนนั้น 'มีลักษณะต้องห้าม' ตามกฎหมายในการเป็นข้าราชการทันที ส่งผลให้ผู้บังคับบัญชาที่สั่งบรรจุข้าราชการคนนั้นต้อง 'สั่งให้ออกจากราชการ' ต่อไป
บางประเทศอนุญาตให้ลูกหนี้ยื่นคำร้องขอให้ตัวเองล้มละลายได้ด้วยตนเอง เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกาหรืออังกฤษ เป็นต้น บางประเทศอำนวยความสะดวกด้วยการให้ยื่นคำร้องผ่านระบบออนไลน์ด้วยซ้ำ ขั้นตอนต่าง ๆ เหล่านี้ สามารถให้ 'ผู้มีวิชาชีพเฉพาะทางในคดีล้มละลาย' ซึ่งต้องอบรมสอบเอาใบอนุญาตทางด้านนี้โดยเฉพาะทำหน้าที่ให้คำปรึกษาและช่วยเหลือได้ ส่วนมากมักเป็นนักบัญชีหรือทนายความที่ปรึกษาที่มาสอบเอาไลเซ่นส์ตัวนี้
ที่เป็นเช่นนี้เพราะประเทศดังกล่าวมองว่า กระบวนการล้มละลายเป็นเพียงวิธีการหนึ่งในการ 'เริ่มต้นชีวิตใหม่' ด้วยการชำระสะสางหนี้เดิมที่ชำระคืนไม่ได้ให้หมดสิ้นไปเท่านั้นและเจ้าหนี้ก็มีสิทธิได้รับชำระหนี้ตามวิธีการในกฎหมายล้มละลายอยู่แล้ว จึงออกแบบระบบคดีล้มละลายให้คล่องตัวมากขึ้น อีกทั้งคดีล้มละลายเป็นคดี 'ชำนัญพิเศษ' จึงควรอยู่ในความดูแลของผู้มีวิชาชีพเฉพาะทางด้านนี้
ส่วนประเทศไทยยังมีกระบวนการล้มละลายที่ค่อนข้างล้าหลังและมองว่าการเป็นลูกหนี้ที่มีหนี้สินล้นพ้นตัวนั้นเป็น 'ตราบาป' กระบวนการของไทยจึงยังต้องให้ 'ศาล' คอยกำกับดูแลแทบทุกขั้นตอน
นอกจากนี้ กระบวนการล้มละลายของไทยมักมีช่องทางให้เจ้าหนี้ 'คัดค้าน' ได้บ่อย ๆ ทำให้ระหว่างดำเนินคดีไปเจ้าหนี้ก็จะใช้สิทธิคัดค้านจนทำให้คดีจบยาก บางครั้งกว่าจะจบก็เกือบ 10 ปี ทำให้หนี้ที่ควรชำระสะสางได้โดยไวกลายเป็นไม่ได้รับการชำระสะสาง ที่เป็นเช่นนี้เพราะสัดส่วนที่เจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระตามคดีล้มละลายจะเป็นสัดส่วนแบบ 'เฉลี่ย' กับเจ้าหนี้รายอื่นแบบเท่า ๆ กัน (pari passu) หากลูกหนี้มีทรัพย์สินน้อย ก็ทำให้เจ้าหนี้เสี่ยงที่จะได้รับชำระหนี้น้อยลงไปอีกด้วย เจ้าหนี้จึงมักคัดค้านอยู่บ่อย ๆ
หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อยนะครับ
ขอบคุณครับ
บทความโดย
พุทธพจน์ นนตรี (ทนายเนส)