ผู้จัดการมรดกขายทรัพย์มรดกโดยทายาทไม่รู้ได้หรือไม่

1109 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ผู้จัดการมรดกขายทรัพย์มรดกโดยทายาทไม่รู้ได้หรือไม่

ผู้จัดการมรดกที่ตั้งตามพินัยกรรมหรือคำสั่งศาลมีสิทธิและหน้าที่ตามที่กฎหมายบัญญัติ
 
สิทธิและหน้าที่ตามที่กฎหมายบัญญัติมีอยู่ 2 ประการตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1719 ได้แก่
 
1) จัดการมรดกให้เป็นไปตามพินัยกรรม และ
2) จัดการมรดกโดยทั่วไป หรือเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดกแก่ทายาท
 
อำนาจดังกล่าวนี้สามารถกระทำได้โดยไม่ต้องขอความยินยอมจากทายาทแต่อย่างใด
 
เมื่อจัดการมรดกภายในขอบอำนาจข้างต้นแล้ว ทายาทก็ต้องผูกพันต่อบุคคลภายนอกในกิจการทั้งหลายอันผู้จัดการมรดกได้ทำไปภายในขอบอำนาจในฐานะที่เป็นผู้จัดการมรดกด้วย ตามมาตรา 1724 วรรคแรก
 
แต่หากนิติกรรมที่ผู้จัดการมรดกทำกับบุคคลภายนอกเป็นนิติกรรมที่ทำเพื่อประโยชน์ของตัวเอง ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของทายาทหรือจัดการให้เป็นไปตามพินัยกรรม นิติกรรมดังกล่าวก็ไม่มีผลผูกพันทายาทและทายาทมีสิทธิฟ้องเพิกถอนนิติกรรมนั้นได้ ตามมาตรา 1724 วรรคสอง
 
ในส่วนของ การขายหรือจำหน่ายทรัพย์มรดก อันเป็นส่วนหนึ่งของหน้าที่ในการจัดการมรดกนั้นเป็นเรื่องที่ มีปัญหาพอสมควร เพราะทายาทมักไม่ทราบและคัดค้านการขายในภายหลัง จึงเกิดคำถามว่า ผู้จัดการมรดกจำหน่ายทรัพย์มรดกโดยทายาทอื่นไม่ยินยอมได้หรือไม่
 
เพื่อตอบคำถามนี้ เราจึงได้เรียบเรียงแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ได้ศึกษากันครับ
 
1.  ผู้จัดการมรดกมีสิทธิจำหน่ายทรัพย์มรดกได้โดยไม่ต้องขอความยินยอมจากทายาทหากทำไปเพื่อจัดการทรัพย์มรดกตามอำนาจหน้าที่
 
ฎีกาที่ 1710/2520 ผู้จัดการมรดกมีอำนาจขายฝากทรัพย์มรดก เมื่อขายแล้วไม่แบ่งเงินให้ทายาทก็เป็นเรื่องระหว่างผู้จัดการมรดกกับทายาทที่จะว่ากล่าวกันต่างหาก หาทำให้นิติกรรมซื้อขายที่ผู้จัดการมรดกทำไปเป็นโมฆะไม่
 
ฎีกาที่ 2387/2529 จำเลยเป็นผู้จัดการมรดก จึงเป็นผู้แทนทายาททั้งหลาย การที่จำเลยทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินมรดก จึงเป็นการกระทำแทนทายาทซึ่งอยู่ในอำนาจหน้าที่ของผู้จัดการมรดกจะพึงกระทำได้  แม้ทายาทมิได้เห็นชอบยินยอมด้วยก็เป็นเรื่องที่ทายาทจะต้องว่ากล่าวกับผู้จัดการมรดกเป็นอีกส่วนหนึ่ง หาทำให้สัญญาที่จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกทำกับสามีโจทก์เสียไปไม่สัญญาจะซื้อขายจึงใช้บังคับได้
 
ฎีกาที่ 1073/2533 ผู้จัดการมรดกอาจกระทำการตามหน้าที่ได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากทายาท
 
2.  หากจัดการมรดกนอกขอบอำนาจ แอบคบคิดกับบุคคลภายนอกเพื่อจำหน่ายทรัพย์มรดกเพื่อประโยชน์ของตนเอง นิติกรรมที่ทำโดยคบคิดกับบุคคลภายนอกก็ไม่ผูกพันทายาท ทายาทฟ้องเพิกถอนได้  
 
ฎีกาที่ 4104/2541 แม้ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 282 เป็นสินสมรสของเจ้ามรดกกับจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิเป็นเจ้าของอยู่ครึ่งหนึ่งก็ตาม แต่จำเลยที่ 1 ก็มีสิทธิในฐานะเจ้าของรวมกับเจ้ามรดก เมื่อเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ส่วนของเจ้ามรดกครึ่งหนึ่งย่อมตกได้แก่ทายาทซึ่งมีโจทก์ทั้งห้าที่เป็นทายาทรวมอยู่ด้วยทันที จำเลยที่ 1 จึงยังมีสิทธิในฐานะเจ้าของรวมกับทายาทของเจ้ามรดกคนอื่น แม้ในเวลาต่อมาจำเลยที่ 1 จะทำการแบ่งแยกที่ดินออกเป็น 2 แปลง จำเลยที่ 1 และทายาทของเจ้ามรดกคนอื่นก็ยังเป็นเจ้าของรวมที่ดินทั้งสองแปลงอยู่ จำเลยที่ 1 จะแบ่งแยกแล้วกำหนดว่าเป็นของตนส่วนใดโดยมิได้รับความยินยอมจากเจ้าของรวมคนอื่น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1364 หาได้ไม่ ดังนั้น ที่ดินส่วนที่เหลือเนื้อที่ 15 ไร่ จึงมิใช่สินส่วนตัวของจำเลยที่ 1 การที่จำเลยที่ 1 รับโอนมรดกที่ดินส่วนที่เหลือเนื้อที่ 15 ไร่ ใส่ชื่อจำเลยทั้งสองและต่อมาโอนขายส่วนของตนให้แก่จำเลยที่ 2 โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ทั้งห้า จึงเป็นการโอนโดยมิชอบเช่นกัน เมื่อการทำสัญญาซื้อขายที่ดินแปลงดังกล่าวทั้งสองครั้งของจำเลยที่ 1 ให้แก่จำเลยที่ 2 แม้จะเป็นทายาท แต่รับโอนในฐานะผู้ซื้อมิใช่รับโอนในฐานะทายาท จึงมิใช่เป็นไปเพื่อจัดการมรดกโดยทั่วไปหรือเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดก แต่เป็นการกระทำนอกขอบอำนาจในฐานะผู้จัดการมรดกโดยคบคิดกับจำเลยที่ 2 ทำให้โจทก์ทั้งห้าซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดกต้องเสียเปรียบจทก์ทั้งห้าจึงมีสิทธิที่จะเพิกถอนการโอนขายที่ดินแปลงดังกล่าวให้กลับคืนมาเป็นทรัพย์มรดกในสภาพเดิม
 
3.  แม้ทรัพย์มรดกที่จำหน่ายจะเป็นส่วนของผู้เยาว์ ก็ไม่ต้องขออนุญาตศาลก่อนจำหน่าย
 
ฎีกาที่ 1236/2491 (ประชุมใหญ่) ผู้ตายทำพินัยกรรมยกที่ดินให้เด็ก และตั้งบิดาของเด็กเป็นผู้จัดการมรดก บิดาลงชื่อในโฉนดในฐานะผู้จัดการมรดกแล้วโอนขายที่ดินนั้นให้แก่บุคคลภายนอกซึ่งรับโอนทางทะเบียนไปโดยสุจริต ดังนี้ เด็กย่อมมีความผูกพันต่อบุคคลภายนอกในกิจการทั้งหลายอันผู้จัดการมรดกได้ทำไปภายในขอบอำนาจในฐานะที่เป็นผู้จัดการมรดก เด็กจะนำมาฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนไม่ได้
 
ฎีกาที่ 8207/2544 แม้ทายาทบางคนยังเป็นผู้เยาว์อยู่ขณะนำที่ดินมรดกมาเป็นทุนของบริษัทจำเลยที่ 8 ผู้จัดการมรดกก็ไม่ต้องขออนุญาตจากศาลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1574 เพราะกรณีนี้ไม่ใช่เรื่องผู้ใช้อำนาจปกครองทำนิติกรรมแทนผู้เยาว์ แต่เป็นเรื่องผู้จัดการมรดกทำการอันจำเป็นเพื่อจัดการมรดกตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายบัญญัติไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1719 และ 1736 วรรคสอง
 
4.  การจำหน่ายทรัพย์มรดกเพื่อชำระหนี้กองมรดกต้องกระทำโดย “ขายทอดตลาด” ตามมาตรา 1740 วรรคท้าย จะจำหน่ายโดยวิธีซื้อขายกันธรรมดาไม่ได้
 
ฎีกาที่ 4104/2541 สำหรับการแบ่งขายที่ดินครั้งแรก จำเลยที่ 1 ผู้จัดการมรดกอ้างว่าขายเพื่อนำเงินไปชำระหนี้ของเจ้ามรดก จึงเป็นการจัดสรรทรัพย์สินของเจ้ามรดกเพื่อชำระหนี้ซึ่งจะต้องดำเนินการตาม ป.พ.พ.มาตรา 1740 วรรคท้าย กล่าวคือ ให้เอาทรัพย์สินออกขายทอดตลาด แต่ทายาทคนใดคนหนึ่งอาจมิให้มีการขายเช่นว่านั้นได้โดยชำระราคาทรัพย์สินนั้นทั้งหมดหรือแต่บางส่วนตามที่ผู้ตีราคาซึ่งศาลตั้งขึ้นได้กำหนดให้จนพอแก่จำนวนที่จะชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ แต่จำเลยที่ 1 หาได้ดำเนินการตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ดังกล่าวไม่ ทั้งไม่ปรากฏว่าโจทก์ทั้งห้าให้ความยินยอมในการขายที่ดินดังกล่าว จึงเป็นการซื้อขายที่ไม่ชอบสำหรับการขายที่ดินครั้งที่สองในที่ดินส่วนที่เหลือนั้น
 
อย่างไรก็ตาม มีคำพิพากษาศาลฎีกาฉบับหนึ่งที่วินิจฉัยว่า การขายทรัพย์มรดกเพื่อใช้หนี้กองมรดกเป็นอำนาจของผู้จัดการมรดกที่จะทำได้โดยลำพัง ตามมาตรา 1724 แม้ไม่ได้จำหน่ายโดยการขายทอดตลาดตามมาตรา 1740 วรรคท้ายก็ตามซึ่งผู้เขียนไม่เห็นด้วย
 
ฎีกาที่ 198/2552 การที่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ข. ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินแปลงพิพาทให้ ท. โดยอ้างว่าเพื่อนำเงินที่ขายได้ไปชำระหนี้กองมรดกของ ข. ซึ่งได้ระบุไว้ชัดแจ้งในคำขอจดทะเบียนสิทธิด้วย ซึ่งเป็นอำนาจของผู้จัดการมรดกที่กระทำได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1724 
 
5. สรุป
 
ผู้จัดการมรดกมีอำนาจจำหน่ายทรัพย์มรดกได้โดยไม่ต้องขอความยินยอมจากทายาท แต่ต้องเป็นการจำหน่ายเพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามพินัยกรรมหรือเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดกแก่ทายาท หากทำเพื่อประโยชน์ของตนเองอย่างเดียว นิติกรรมการจำหน่ายทรัพย์มรดกก็ไม่ผูกพันทายาท ทายาทฟ้องเพิกถอนนิติกรรมนั้นได้
 
นอกจากนี้ การขายทรัพย์มรดกในส่วนของผู้เยาว์ก็ไม่ต้องขออนุญาตจากศาลก่อนเพราะเป็นอำนาจของผู้จัดการมรดกตามกฎหมายโดยเฉพาะอยู่แล้ว 

ส่วนการขายทรัพย์มรดกเพื่อใช้หนี้กองมรดกต้องปฏิบัติตามมาตรา 1740 วรรคท้าย กล่าวคือ ขายด้วยวิธีการทอดตลาดเท่านั้น หากกระทำด้วยวิธีอื่น ก็เป็นการขายที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย สามารถเพิกถอนได้
 
ขอบคุณครับ

บทความโดย

พุทธพจน์ นนตรี

ทนายความ
 

สำนักงานกฎหมายณัฐพจน์ ลีกัล เซอร์วิส ให้บริการว่าความในเขตกรุงเทพและปริมณฑล รวมทั้งให้คำปรึกษาทางกฎหมายแก่ผู้มีอรรถคดี

ท่านสามารถตรวจสอบบริการของเราได้ที่หัวข้อ “บริการ” ในเว็บไซต์หรือติดต่อเราผ่านช่องทางที่ระบุไว้ด้านล่างสุดของหน้าหรือในหัวข้อ "ติดต่อเรา" ครับ
 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้