307 จำนวนผู้เข้าชม |
เซ็นชื่อในหนังสือมอบอำนาจที่ยังไม่ได้กรอกข้อความ ต่อมามีผู้เอาหนังสือมอบอำนาจไปกรอกข้อความโดยเจ้าของลายเซ็นไม่ยินยอม ผลทางกฎหมายในกรณีนี้จะเป็นอย่างไร สามารถวิเคราะห์หลักกฎหมายจากแนวคำพิพากษาศาลฎีกาได้ดังนี้
1) ถ้าเซ็นชื่อลอย ๆ ไว้ในหนังสือมอบอำนาจที่ยังไม่ได้กรอกข้อความ ต่อมามีคนเอาหนังสือมอบอำนาจไปกรอกข้อความว่า ผู้เซ็นชื่อได้มอบอำนาจให้ผู้กรอกขายที่ดินของผู้เซ็น “ให้แก่ตัวผู้กรอกเอง” โดยผู้เซ็นไม่รู้เห็นและยินยอม นิติกรรมการซื้อขายนี้ย่อม “ไม่ผูกพัน” ผู้เซ็นชื่อเพราะเกิดจากหนังสือมอบอำนาจที่เป็น “เอกสารปลอม” (ฎีกาที่ 637/2544)
2) ถ้าเซ็นชื่อลอย ๆ ไว้ในหนังสือมอบอำนาจที่ยังไม่ได้กรอกข้อความ ต่อมามีคนเอาหนังสือมอบอำนาจไปกรอกข้อความว่า ผู้เซ็นชื่อได้มอบอำนาจให้ผู้กรอกทำสัญญาจำนองที่ดินของผู้เซ็นชื่อ “กับนาย ก. บุคคลภายนอก” เพื่อประกันหนี้ของผู้กรอกได้ นิติกรรมการจำนองนี้จะผูกพันผู้เซ็นชื่อลอย ๆ ก็ต่อเมื่อนาย ก. บุคคลภายนอกรับจำนองที่ดินนั้นโดย “สุจริต เสียค่าตอบแทน (ค่าจำนองที่ดิน) และจดทะเบียนสิทธิโดยสุจริต” หากไม่สุจริต หรือสุจริตแต่ไม่เสียค่าตอบแทน การจำนองที่ดินกับนาย ก. ก็ไม่บริบูรณ์ (เทียบฎีกาที่ 580/2507)
3) ถ้าเซ็นชื่อลอย ๆ ไว้ในหนังสือมอบอำนาจที่ยังไม่กรอกข้อความด้วยความ “ประมาทเลินเล่อ” หรือ “โดยรู้สำนึกว่าจะมีผู้เอาหนังสือมอบอำนาจนั้นไปใช้ทำนิติกรรมใดต่อไป” ต่อมามีคนเอาหนังสือมอบอำนาจนี้ไปกรอกข้อความว่า ผู้เซ็นชื่อได้มอบอำนาจให้ผู้กรอกขายที่ดินของผู้เซ็นชื่อ “ให้แก่ผู้กรอก” หรือ “ให้แก่นาย ก. บุคคลภายนอกผู้สุจริต เสียค่าตอบแทน และจดทะเบียนสิทธิโดยสุจริต” ในภายหลัง นิติกรรมนี้ย่อม “ผูกพัน” ผู้ที่เซ็นชื่อลอย ๆ นั้นทันที ผู้เซ็นชื่อลอย ๆ จะยกเอาความประมาทเลินเล่อของตนขึ้นอ้างเพื่อปฏิเสธความผูกพันที่ตนมีต่อบุคคลภายนอกผู้สุจริตไม่ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 822 ประกอบมาตรา 821 (เทียบฎีกาที่ 580/2507 และฎีกาที่ 11515/2553)
4) แต่ถ้ามีคน “ปลอม” หนังสือมอบอำนาจแล้วเอาหนังสือมอบอำนาจนั้นไปโอนขายที่ดินให้ตัวเองหรือโอนขายให้แก่บุคคลภายนอก กรณีนี้นิติกรรมการซื้อขายย่อม “ไม่ผูกพัน” เจ้าของที่ดินทันทีแม้บุคคลภายนอกจะสุจริตและเสียค่าตอบแทนก็ตามเพราะ “ผู้รับโอนย่อมไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน” เจ้าของที่ดินฟ้องติดตามเอาที่ดินคืนได้ทันทีโดยไม่มีอายุความ จะเอา ป.วิ.พ. ม.94 มาอ้างว่าห้ามสืบแก้ไขข้อความในเอกสาร "ก็ไม่ได้" เพราะมาตรา 94 อนุญาตให้สืบหักล้างเอกสารเพราะ "เอกสารปลอม" หรือ "ไม่สมบูรณ์" ได้
5) เรื่องเอกสารปลอมเป็น “ข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน” แม้คู่ความไม่ได้ฎีกาโต้งแย้ง หรือศาลชั้นต้นไม่ได้กำหนดเป็นประเด็นไว้ในชั้นชี้สองสถาน ศาลสูงก็ชอบที่จะหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง (เทียบฎีกาที่ 6379/2544)
6) สุจริตหรือไม่สุจริตเป็นปัญหาข้อเท็จจริง ผู้ใดกล่าวอ้างว่าบุคคลภายนอกผู้รับจดทะเบียนสิทธินั้นไม่สุจริต ผู้นั้นย่อมมีหน้าที่นำสืบถึงความไม่สุจริตของบุคคลภายนอกนั้นด้วย ทั้งนี้ เพราะบุคคลทุกคนย่อมได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่ากระทำการโดยสุจริตตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 6 หากไม่โต้แย้งมาในคำให้การว่าอีกฝ่ายไม่สุจริต หรือโต้แย้งมาในคำให้การแล้วแต่กลับไม่นำสืบ หรือสืบได้ไม่สมอ้าง ศาลก็ต้องรับฟังว่าบุคคลภายนอกนั้นกระทำการโดยสุจริตแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ใช้อ้างอิง
ฎีกา 6379/2544
จำเลยนำแบบฟอร์มหนังสือมอบอำนาจที่โจทก์เพียงลงลายมือชื่อไว้ไปกรอกข้อความว่าโจทก์มอบอำนาจให้จำเลยเป็นผู้มีอำนาจจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทของโจทก์ให้แก่จำเลยโดยโจทก์มิได้รู้เห็นยินยอมด้วยหนังสือมอบอำนาจจึงเป็นเอกสารปลอม นิติกรรมการโอนขายที่ดินพิพาทมิได้เกิดจากการแสดงเจตนาของโจทก์ที่ประสงค์จะทำนิติกรรมนั้น นิติกรรมการจดทะเบียนโอนขายที่ดินดังกล่าวจึงไม่ผูกพันโจทก์ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของโจทก์มาเป็นของจำเลยดังกล่าวได้
ปัญหาเรื่องการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตโดยทำหนังสือมอบอำนาจปลอมแล้วนำไปดำเนินการทำนิติกรรมโอนขายที่ดินส่วนของโจทก์มาเป็นของจำเลยที่ 1 อันเป็นเหตุให้นิติกรรมดังกล่าวไม่มีผลผูกพันโจทก์นั้น เป็นปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องและเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จะมิได้มีการชี้สองสถานกำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทไว้ ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยตามที่เห็นสมควรได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 247 ประกอบด้วยมาตรา 246 และมาตรา 142 (5)
ฎีกา 580/2507
เจ้าของที่ดินลงชื่อในใบมอบอำนาจโดยมิได้กรอกข้อความเพื่อให้ผู้รับมอบอำนาจไปทำกิจการอย่างอื่นแต่ผู้รับมอบกลับนำไปกรอกข้อความเป็นให้จำนอง ถ้าผู้รับจำนองได้ทำการรับจำนองต่อพนักงานเจ้าหน้าที่โดยสุจริต เสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนสิทธิจำนองโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว เจ้าของที่ดินจะอ้างเอาความประมาทเลินเล่อของตนมาเป็นเหตุให้พ้นความรับผิดไม่ได้
ฎีกา 11515/2553
จำเลยลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจโดยมิได้กรอกข้อความ กับลงลายมือชื่อรับรองสำเนาทะเบียนบ้านและสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนมอบให้แก่ ท. ไปพร้อมกับโฉนดที่ดิน เมื่อ ท. นำเอกสารดังกล่าวไปกรอกข้อความว่าจำเลยมอบอำนาจให้ ท. จดทะเบียนไถ่ถอนจำนองและจดทะเบียนยกให้ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างแก่ ท. จึงเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลย จำเลยต้องยอมรับความเสียหายที่เกิดจากการกระทำของตนเอง จำเลยจะยกความประมาทเลินเล่อของตนเองดังกล่าวขึ้นต่อสู้โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกที่กระทำการโดยสุจริตหาได้ไม่ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 822 ประกอบมาตรา 821
จำเลยมีหน้าที่นำสืบให้เห็นถึงความไม่สุจริตของโจทก์ เพราะโจทก์ได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 6 เมื่อจำเลยนำสืบไม่ได้ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าโจทก์กระทำการโดยสุจริต การขายฝากที่ดินพิพาทระหว่าง ท. กับโจทก์จึงมีผลสมบูรณ์ เมื่อ ท. ไม่ไถ่ที่ดินคืนภายในกำหนด โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาท
ขอบคุณครับ
บทความโดย
พุทธพจน์ นนตรี
ทนายความ
สำนักกฎหมายณัฐพจน์ ลีกัล เซอร์วิส ให้บริการว่าความในเขตกรุงเทพและปริมณฑล รวมทั้งให้คำปรึกษาทางกฎหมายแก่ผู้มีอรรถคดี
ท่านสามารถตรวจสอบบริการของเราได้ที่หัวข้อ “บริการ” ในเว็บไซต์หรือติดต่อเราผ่านช่องทางที่ระบุไว้ด้านล่างสุดของหน้าหรือในหัวข้อ "ติดต่อเรา" ครับ